นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังกล่าวมอบนโยบายและรับฟังการบรรยายสรุปงานวิจัยของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ทั้งเรื่องของผลงานวิจัยที่ผ่านมา และผลงานวิจัยที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ โดยมุ่งเน้นศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตพืชสวนเศรษฐกิจ และพืชสวนสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า ผลการดำเนินงานสำคัญของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ในปี 2563 งานไม้ผล ได้แก่ มะม่วง และมะละกอ มีการปลูกคัดเลือก เปรียบเทียบพันธุ์ สามารถคัดเลือกได้สายพันธุ์ที่มีศักยภาพ ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี สามารถเสนอเป็นพันธุ์แนะนำได้ในอนาคต งานวิจัยพริก และมะเขือเทศ ได้แก่ พริกและมะเขือเทศ สามารถคัดเลือกได้สายพันธุ์ที่มีศักยภาพ ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี สามารถเสนอเป็นพันธุ์แนะนำได้ งานวิจัยไม้ดอก ได้แก่ บัวบริโภคเมล็ดสด สามารถคัดเลือกได้สายพันธุ์ที่มีศักยภาพ สามารถเสนอเป็นพันธุ์แนะนำได้ ทั้งนี้ศูนย์ฯ มีแปลงงานวิจัยพืชสวน 5 กลุ่ม ได้แก่ ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอก พืชสมุนไพร และพืชสวนอุตสาหกรรม พร้อมเยี่ยมชมโรงเรือนปลูกคัดเลือกพันธุ์มะเขือเทศ จากนั้นได้ร่วมปล่อยพันธุ์ปลาลงสู่หนองชีร่วมกับผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นอกจากนี้ แผนการดำเนินงานในอนาคตของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จะมีการวิจัยเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิตหอมแดง เพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจให้พึ่งตนเอง ตัดวงจรการระบาดของโรคและลดต้นทุนการผลิตลง โดยใช้วิชาการเกษตรจากผลงานวิจัยในการจัดการแปลงหอมแดงให้ได้คุณภาพสูง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต มีการจัดการผลิตหอมแดงที่เหมาะสม ผลผลิตมีคุณภาพสูง ปลอดภัย ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ช่วยยกระดับเศรษฐกิจให้พึ่งพาตนเองและการแข่งขัน นำไปสู่การผลิตหอมแดงปลอดภัยและหอมแดงอินทรีย์ รวมทั้งการขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อยกระดับผลผลิตสู่สากลอย่างแท้จริง และการวิจัยการผลิตกาแฟโรบัสตาคุณภาพแบบครบวงจร โดยจังหวัดศรีสะเกษเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกกาแฟโรบัสตา ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟโรบัสตาในแหล่งปลูกต่างๆ ด้วยการปลูกทดสอบพันธุ์กาแฟโรบัสตาพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ (อำเภอเมือง) และแปลงเกษตรกรในอำเภอขุนหาญ และอำเภอกันทรลักษณ์ พบว่า กาแฟมีการเจริญเติบโตดี เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วภายในเวลาเพียง 2 ปี การตรวจสอบด้านการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงการทดสอบการชิม ด้านรสชาติและคุณภาพของเมล็ดกาแฟผ่านเกณฑ์ในขั้นที่ดี มีรสชาติที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการปลูกกาแฟ และตลาดยังมีความต้องการในปริมาณที่มากขึ้นทุกปี ดังนั้นจึงได้นำร่องขยายผลการผลิตกาแฟคุณภาพ เป็นผลิตผลสู่พืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพ และมีแนวโน้มจะสามารถพัฒนาเป็นสินค้าเฉพาะถิ่นได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่ สามารถปลูกทดแทนข้าวในพื้นที่นาดอน ลดการชดเชยความเสียหายจากการทำนา สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นายธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กล่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ มีผลงานวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชที่ได้ผลงานพืชพันธุ์ใหม่แล้ว ทั้งสิ้น 14 พันธุ์ เป็นพันธุ์รับรอง จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ มะม่วงหิมพานต์ 3 พันธุ์ (พันธุ์ศรีสะเกษ 60-1, พันธุ์ศรีสะเกษ 60-2, และพันธุ์ศรีสะเกษ 3) และมะขามเปรี้ยว 1 พันธุ์ (พันธุ์ศรีสะเกษ 1) เป็นพันธุ์แนะนำ จำนวน 10 พันธุ์ ได้แก่ มะขามเปรี้ยวพันธุ์ศรีสะเกษ 019 มะขามแก้วพันธุ์ศรีสะเกษ 007 มะละกอพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ มะเขือเทศพันธุ์ศรีสะเกษ 1 พริกขี้หนูห้วยสีทนพันธุ์ศรีสะเกษ พริกขี้หนูห้วยผลใหญ่พันธุ์ศรีสะเกษ 1 (จินดา) พริกขี้หนูเลยพันธุ์ศรีสะเกษ 4 มะเขือเทศสีดาพันธุ์ศรีสะเกษ 2 มะละกอฮออลแลนด์พันธุ์ศรีสะเกษ และมะละกอพันธุ์ศรีสะเกษ 1 ซึ่งได้รับความนิยมจากเกษตรกรมาอย่างยาวนาน และศูนย์ฯ ยังรับผิดชอบในการผลิตพันธุ์พืชสวนพันธุ์ดี ทั้งในรูปกิ่งพันธุ์ดี/ต้นพันธุ์ดี ได้แก่ มะขามเปรี้ยว มะม่วง มะม่วงหิมพานต์ กาแฟโรบัสตา และเบญจมาศ เมล็ดพันธุ์ ได้แก่ มะละกอแขกดำศรีสะเกษ พริก มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ มะเขือยาว ผักบุ้งจีน กะเพรา แมงลัก และโหระพา เพื่อจำหน่ายแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร รวมกิ่งพันธุ์/ต้นพันธุ์ดี 5 ชนิด 32,000 ต้น เมล็ดพันธุ์ 10 ชนิด 600 กิโลกรัม
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สังกัดสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดิมชื่อ “สถานีทดลองพืชสวนศรีสะเกษ” เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2517 ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 กรมวิชาการเกษตรได้ยกระดับจากสถานีฯ ขึ้นเป็น “ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ” สังกัดสถาบันวิจัยพืชสวน โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IFAD) และประเทศออสเตรเลีย เพื่อปรับปรุงระบบงานวิจัยและพัฒนาของศูนย์วิจัยพืชสวนทั้งประเทศ ให้มีการศึกษาวิจัยแบบสหสาขาวิชา ให้ได้ผลงานที่เป็นประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหาการเกษตรด้านพืชสวนของเกษตรกรทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ