ก.แรงงาน จัดแพ็กเกจโมเดลใหม่ ปั้นกำลังคน EEC

30 Oct 2020

ก.แรงงาน จัดฝึกแพ็กเกจคนละครึ่ง เสริมสกิลสร้างแรงงานฝีมือ ป้อนตลาด EEC สปก. นำค่าใช้จ่ายไปลดภาษี

ก.แรงงาน จัดแพ็กเกจโมเดลใหม่ ปั้นกำลังคน EEC

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ขับเคลื่อนรูปแบบการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น EEC Model short course เป็น 2 รูปแบบ เพื่อใช้ในการพัฒนากำลังแรงงานให้ทันต่อการลงทุนในเขต คือ EEC Model Type A สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการจะร่วมกันพิจารณาหลักสูตรสำหรับนักศึกษาระดับปวช. ปวส. หรือป.ตรี โดยสถานประกอบกิจการจะออกค่าใช้จ่าย 100 เปอร์เซ็นต์ รับผู้ผ่านการฝึกอบรมเข้าทำงานไม่น้อยกว่า 1 ปี และโมเดลที่ 2 EEC Model Type B สถานประกอบกิจการกับหน่วยฝึกอบรมร่วมกันจัดทำหลักสูตร ให้สกพอ. พิจารณาอนุมัติหลักสูตรเพื่อนำไปใช้ในการฝึกอบรม สกพอ. สนับสนุนงบบูรณาการเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม 50 เปอร์เซ็นต์ สถานประกอบกิจการจ่ายอีกเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ ส่วนผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับโอกาสเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการ 100 เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาการฝึกอบรม 6 ชั่วโมงขึ้นไป และต้องมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 10 คนต่อรุ่น เป็นการฝึกอบรมตรงกับความความต้องการของสถานประกอบกิจการ กระทรวงแรงงาน โดยกพร. จึงบูรณาการร่วมกับสถานประกอบกิจการจัดฝึกอบรมพัฒนากำลังแรงงานในเขตพื้นที่ EEC โดยเน้นที่โมเดล EEC Model Type B

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า หน่วยงานกพร. ในเขต EEC ซึ่งประกอบด้วยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 17 ระยอง สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานฉะเชิงเทรา และสถาบันพัฒนาบุคลกรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) ได้ร่วมกับสถานประกอบกิจการดำเนินการจัดทำหลักสูตรและผ่านการอนุมัติจากสกพอ. แล้ว 21 หลักสูตร และในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา ได้ดำเนินจัดฝึกอบรมจำนวน 9 หลักสูตร 11 รุ่น ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง เช่น สาขาการซ่อมบำรุงและแก้ไขปัญหาเครื่องปรับอากาศในอุตสาหกรรมการผลิต สาขาการตรวจสอบงานเชื่อมชิ้นส่วนยานยนต์ สาขาการควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม WELDEX ด้วยโปรแกรม CRP และ LNC สาขาช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC ระดับ 1 เป็นต้น มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 158 คน สำหรับในปี 2564 เป้าหมายดำเนินการฝึกอบรมอีกจำนวน 400 คน

"การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการมุ่งเน้น Upskill Reskill และ New skill ให้แก่แรงงานใหม่ แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ผู้ว่างงาน นักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาระดับปวช. ปวส. ปริญญาตรี ให้เป็นแรงงานคุณภาพ มีทักษะฝีมือเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเขต EEC ที่ยังต้องการบุคลากรที่มีทักษะจำนวนมากในการรองรับการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน" อธิบดีกพร. กล่าว

HTML::image( HTML::image( HTML::image(