ลองคิดภาพตามว่าในวันที่อายุมากขึ้น ท่อนขาและเข่าที่เคยแข็งแรง ที่เคยตอบรับทุกข้อเรียกร้องไม่ว่าคุณจะอยากเดินไปไหน กลับกำลังร้องส่งเสียงเรียกให้คุณหยุดเดิน ชนิดที่คุณปฏิเสธอาการนั้นไม่ได้แม้แต่น้อย เพราะเสียงร้องเหล่านั้นยื้อยึดคุณด้วยคำสั้นๆ ว่า "ปวดเข่า"
แต่แทนที่เราจะหยุดรับฟังเสียงร้องของเข่า เรากลับดื้อดึงใช้งานมันต่อไปจนได้ (เพราะคิดว่าเดี๋ยวก็หาย) หารู้ไม่ว่าทางที่เรากำลังเดินไปแบบไม่หยุดพัก มีโรคที่เรียกว่า "โรคข้อเข่าเสื่อม" กำลังโบกมือต้อนรับเราอยู่
โรคข้อเข่าเสื่อม อาจฟังดูเหมือนเป็นอาการที่พบได้แค่ในบุคคลสูงวัย ซึ่งนั่นก็เป็นข้อเท็จจริงข้อหนึ่ง แต่ใช่ว่าโรคนี้จะไม่พบในบุคคลอายุน้อยเสียที่ไหน หากเราลองยืนท่าตรงมองสำรวจตัวเอง แล้วพบว่า น้ำหนักตัวของเราพุ่งทะลุเกินเกณฑ์ เราบังเอิญมีโรคประจำตัวชื่อรูมาตอยด์ หรืออาจทานของโปรดบ่อยจนอาการเก๊าท์ที่เคยเป็นกำเริบ หรือย้อนกลับไปเคยเป็นคนชอบเตะฟุตบอล แต่มีอุบัติเหตุโดนเสียบสกัดจนเอ็นเข่าฉีก ให้ระวังตัวไว้เลยว่าตัวเองอาจมีปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อม ในอนาคตก็ได้
รศ.นพ.พฤกษ์ ไชยกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดข้อสะโพกและข้อเข่า อดีตประธานชมรมศัลยแพทย์ผ่าตัดโดยการใช้คอมพิวเตอร์นำร่องแห่งประเทศไทย และ หัวหน้าศูนย์รักษ์ข้อโรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า "โรคข้อเข่าเสื่อมไม่ได้มีแค่ในคนสูงอายุ บางรายมีอาการปวดตั้งแต่อายุ 30-40 ปี แต่ถ้าเรารู้ตัวเร็วว่าเริ่มมีอาการ เริ่มมีความผิดปกติกับข้อ เราก็สามารถรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย เช่น บริหารกล้ามเนื้อขา ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และลดกิจกรรมการใช้งานข้อเข่าบางอย่าง เช่น นั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ ลดน้ำหนักตัวลงในกรณีที่มีน้ำหนักตัวเกิน มีการใช้ยาต่างๆ ทั้งยากิน และยาฉีดบำรุงข้อเข่า เรียกว่าถ้าเรารีบตัดไฟแต่ต้นลม อาการก็อาจจะไม่หนักจนถึงขั้นผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยที่เป็นข้อเข่าเสื่อมแล้วจำเป็นต้องรับการผ่าตัดใส่ผิวข้อเข่าเทียมมีไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ"
แล้ว 5% ที่ต้องรับการผ่าตัดจะเป็นอย่างไร? คำถามต่อมาที่ส่งถึงนายแพทย์ของโรงพยาบาลพระรามเก้า ได้รับคำตอบกลับมาว่า หากคนไข้ป่วยถึงระยะที่ "ข้อเข่าโก่งผิดรูป" และจำเป็นต้องผ่าตัด โรงพยาบาลพระรามเก้า ก็มีเทคโนโลยีช่วยเหลือในการผ่าตัด เพื่อลดโอกาสผิดพลาดให้น้อยที่สุด โดยการใช้เครื่อง "คอมพิวเตอร์นำร่อง" (Computer Assisted Surgery in Total Knee Arthroplasty)
โดยปกติแล้วการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จะมีหลักการ คล้ายกับการทำครอบฟันรักษาฟันผุ คือทำการตัดเจียผิวข้อเข่าและกระดูกเข่าออกแล้วนำผิวข้อเทียมครอบยึดลงไปบนกระดูก โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือประกบกับขาคนไข้ แล้วใช้สายตาเล็งมุมตัด แก้ไขมุมขาที่ผิดรูปให้กลับมาเป็นขาที่ตรง แต่การจะผ่าตัดให้ได้องศาที่ถูกต้อง จะต้องพึ่งความชำนาญของแพทย์ผู้ผ่าตัดเป็นหลัก ซึ่งอาจพบความแปรปรวนของค่ามุมต่างๆ ที่ได้ค่อนข้างมาก ตามรายงานที่มีทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ และเครื่องคอมพิวเตอร์นำร่องคือเทคโนโลยีที่โรงพยาบาล พระรามเก้าใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
"นึกภาพนาฬิกาที่ขอบเลขรอบๆ ถูกลบออกทั้งหมด" รศ.นพ.พฤกษ์ เกริ่น "เราแทบไม่สามารถบอกได้เลยว่าเข็มวินาทีของนาฬิกากำลังหยุดอยู่ที่วินาทีที่ 22 หรือ 23 แม้จะห่างกันเพียงวินาทีเดียว แต่นี่แหละคือความคลาดเคลื่อนของตามนุษย์ คิดง่ายๆ คือ 1 วินาที หรือเทียบได้ 6 องศา แต่ความคลาดเคลื่อน 6 องศานี้หากนำมาแปลงในการผ่าใส่ผิวข้อเข่าเทียม มันเป็นตัวเลขที่เยอะมาก"
เพื่อลดตัวเลขความคลาดเคลื่อนนี้ลง เครื่องคอมพิวเตอร์นำร่องจึงถูกนำมาใช้ตรวจสอบตั้งแต่ ขั้นตอนการเล็งวัดมุมองศากระดูก ตามด้วยขั้นตอนการตัดกระดูกที่คอมพิวเตอร์จะแสดงให้เห็น ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ และตรวจสอบหลังจากตัดกระดูกไปแล้ว จึงช่วยให้แพทย์ ผู้ผ่าตัดสามารถแก้ไขข้อผิดพลาด (ในกรณีที่เกิดขึ้น) ได้แทบจะในทันที
ปัจจุบันมาตรฐานค่าความคลาดเคลื่อนในการผ่าตัดข้อเข่าที่ยอมรับได้คือ "ไม่เกิน 3 องศา" แต่เมื่อนำมาเทียบกับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์นำร่องที่ "มองเห็นความคลาดเคลื่อน ได้ในระดับ 1 องศา" ก็แทบการันตีได้เลยว่าข้อเข่าที่เคยโก่งผิดรูปของผู้ป่วย จะกลับมามีลักษณะ ใกล้เคียงเดิม
"โรงพยาบาลพระรามเก้าผลักดันความก้าวหน้าของการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมาตลอด เทคโนโลยีเครื่องคอมพิวเตอร์นำร่องที่เราใช้ เป็นเทคนิคที่ช่วยให้แพทย์อย่างเราๆ สามารถผ่าตัดได้ดีขึ้น และปรับสภาพเนื้อเยื่ออ่อนรอบข้อตึงได้เหมาะสมขึ้นด้วย เมื่อรวมกับผลของยาระงับความปวด และสภาพร่างกาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ผ่าตัดสามารถกลับมาเดินได้ภายใน 24 ชั่วโมง …แต่ถึงอย่างนั้น หากรู้สึกมีอาการปวดเข่าต่อเนื่องเกิน 3-5 วัน ก็ควรรีบมาพบแพทย์ได้แล้ว ไม่อย่างนั้นรู้ตัวอีกที เราอาจเป็นหนึ่งใน 5% ที่ต้องใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์นำร่องแล้วก็ได้" รศ.นพ.พฤกษ์ ทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit