เอ็นไอเอ พารู้จัก 2 สตาร์ทอัพเลือดใหม่ "ไฟน์ฟู้ดส์ - เฮิร์บส สตาร์ทเตอร์" ผู้เปิดประตูโอทอปเกษตรให้โตในตลาดออนไลน์

12 Nov 2020

เกษตรกรไทยจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป เพราะในวันนี้นวัตกรรมและแพลตฟอร์มออนไลน์จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีเดิมๆ ของเกษตรกร ให้กลายเป็น Smart Farmer : สมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือการทำการเกษตรที่ใช้นวัตกรรมเข้าไปขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มผลผลิต ลดความเสี่ยง เพิ่มมูลค่า เพิ่มช่องทางการขายให้กว้างขวางมากขึ้น เพราะล่าสุด สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้จัดโครงการ Agtech4OTOP ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดึงเอาสตาร์ทอัพด้านเกษตรที่หลากหลายอีกทั้งยังมีความพร้อม และความจริงใจที่จะเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่ โดยวันนี้เรามี 2 สตาร์ทอัพที่พร้อมจะติดเขี้ยวเล็บอันใหม่ให้กับเกษตรกรไทย อย่าง "Herbs Starter" และ "Find Food"

เอ็นไอเอ พารู้จัก 2 สตาร์ทอัพเลือดใหม่ "ไฟน์ฟู้ดส์ - เฮิร์บส สตาร์ทเตอร์" ผู้เปิดประตูโอทอปเกษตรให้โตในตลาดออนไลน์

? เริ่มกันที่ "Herbs Starter" แพลตฟอร์มที่จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรอย่างครบวงจร

นางสาวอิสรีย์ นิตยสมบูรณ์ Co-Founder Herbs Starter เล่าว่า "Herbs Starter" เป็นแพลตฟอร์มที่ต่อยอดจาก "Hub of Herbs" ซึ่งเกิดจากความตั้งใจที่ต้องการจะช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศให้สามารถ ซื้อขาย แลกเปลี่ยน แปรรูปสินค้าได้ตามที่ต้องการ ดังนั้น จึงได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ทำให้พบปัญหาของเกษตรกรที่แตกต่างกันออกไป เกษตรกรบางรายต้องการแปรรูปวัตถุดิบที่มีอยู่ บางรายต้องการขายแค่วัตถุดิบ หรือบางรายต้องการขยายตลาดให้สามารถขายสินค้าทางการเกษตรให้ได้มากขึ้น ดังนั้น "Herbs Starter" จึงวางรูปแบบบริการไว้ 4 ด้าน คือ การประเมินศักยภาพและความพร้อมในการทำธุรกิจ การวางแผนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทำข้อมูลและสร้างเรื่องราวของชุมชนให้มีอัตลักษณ์ที่น่าสนใจ และการตลาดทั้งโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อเติมเต็มในสิ่งที่เกษตรกรต้องการ ผ่านเครือข่ายและพันธมิตรในรูปแบบต่างๆ ซึ่งนอกจากจะใช้นวัตกรรมด้านการสื่อสารเพื่อสร้างอัตลักษณ์เรื่องราวให้แก่สินค้าเกษตรกรและชุมชนแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจและอยากจะมาสัมผัสบรรยากาศต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์ในชุมชน ซึ่งตนมองว่าเป็นการต่อยอดและสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับเกษตรในพื้นที่ต่างจังหวัดได้ค่อนข้างมาก

นางสาวอิสรีย์ กล่าวต่อว่า นอกจากการสร้างเรื่องราวให้สินค้าเกษตรในแต่ละพื้นให้เกิดความน่าสนใจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว Herbs Stater ยังได้มีการวางแผนการระบายผลผลิตที่ตกค้างด้วยการนำมาแปรรูปให้เป็นสินค้าออแกนิก และอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ภายใต้แนวคิด "Connect Barn to Urban" ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อมโยงสินค้าเกษตรในต่างจังหวัดให้เข้าถึงชีวิตคนเมืองได้ง่ายและปลอดภัยไปพร้อม ๆ กับการสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกรและชุมชน

? ถัดมาเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้นนั่นคือ "Find Food" แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มาพร้อมกับแนวคิด "วัตถุดิบต้นทาง ราคาต้นทุน" โดย นางสาวนฤมล ล้อมคง ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ Find Food เล่าว่า Find Food เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ต่อยอดมาจากการทำนวัตกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวชุมชน เนื่องจากในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถพานักท่องเที่ยวลงพื้นที่ได้เหมือนที่ผ่านมา จึงมานั่งคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้มีรายได้เกิดขึ้น และพบว่าช่วงนั้นมะม่วง และลิ้นจี่ของชุมชนที่ เคยร่วมงานด้วยไม่สามารถขายได้ ทางบริษัทเลยระดมสมองกันและเกิดไอเดียในการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะเข้ามาช่วยระบายผลผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร ดังนั้น จึงเริ่มทำเพจเฟซบุ๊ก "Find Food วัตถุดิบต้นทาง ราคาต้นทุน" และเริ่มติดต่อไปยังชุมชนในต่างจังหวัดเพื่อค้นหาสินค้าเกษตรท้องถิ่นมาจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการอุดหนุนสินค้าเกษตรสามารถสั่งซื้อผ่านไลน์แอด @FindFood19

"สำหรับ เพจ Find Food วัตถุดิบต้นทาง ราคาต้นทุน" มีลักษณะเหมือนกับเพจขายสินค้าออนไลน์ แต่จะเน้นขายสินค้าทางการเกษตรที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่น เน้นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และส่งเสริมเกษตรกรแบบยั่งยืน เป็นการส่งต่ออาหารที่มีคุณภาพในราคาเป็นมิตรให้กับผู้บริโภค นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าชุมชนเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว ทางทีมยังเน้นการสร้างเรื่องราวให้แก่สินค้าการเกษตร โดยมองว่าหากสินค้ามีเรื่องราวที่น่าประทับใจจะช่วยเพิ่มความอยากซื้อให้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และยังทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าสินค้าไม่ได้มีราคาแพงกว่าท้องตลอด และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ผู้บริโภคมั่นใจได้ 100% ว่าหากสั่งซื้อสินค้ากับทาง Find Food จะได้ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง อีกทั้งยังได้รับประทานผลไม้ หรือสินค้าทางการเกษตรอื่นๆ ที่มาจากพื้นที่นั้นๆ นอกจากนี้ ยังได้แนะนำให้เกษตรกรเขียนข้อความขอบคุณลูกค้าไว้หน้ากล่อง และเชิญชวนลูกค้าให้กลับมาเที่ยวชุมชนของพวกเขา โดยแนวคิดนี้จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตรได้อีกด้วย" นางสาวนฤมล กล่าวทิ้งท้าย

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า สำหรับการเริ่มต้นโครงการ Agtech4OTOP นั้น NIA ต้องการที่จะเปิดช่องทางให้เกษตรกรในประเทศไทยได้เข้าถึงนวัตกรรม เนื่องจากอาชีพเกษตรกรรมถือว่าเป็นอาชีพหลักของคนในประเทศ แต่จะทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงนวัตกรรมที่ดี สามารถผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สามารถพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงตลาดได้อย่างกว้างขวาง รวมไปถึงการมีอำนาจต่อรองกับนายทุนรายใหญ่ ดังนั้น NIA จึงได้มีแนวทางส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรผ่านโครงการดังกล่าว โดยได้รวมเอาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรกว่า 10 รายไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มการเพิ่มมูลค่าสินค้า แพลตฟอร์มสำหรับเพิ่มผลผลิต แพลตฟอร์มที่ช่วยด้านแบรนด์ แพลตฟอร์มด้านการตลาดเข้ามาจับคู่กับสินค้าเกษตรที่มีอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่ผ่านการคัดเลือกมากว่า 50 ราย อาทิ ส้มโอนครชัยศรี จ.นครปฐม ทุเรียนป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์ มะปี๊ด จ.จันทบุรี โดยสตาร์ทอัพที่เข้าโครงการนั้นจะเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพ และการเติบโต พร้อมทั้งช่วยขยายตลาดให้แก่เกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมให้นวัตกรรมและเกษตรกรมาเจอกัน ซึ่งนอกเหนือไปจากการเสริมศักยภาพแล้ว สตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมจะช่วยให้เกษตรกรและผู้บริโภคได้เจอกันโดยตรง รวมไปถึงการเจาะตลาดใหม่ ๆ เช่น ตลาดต่างประเทศ ซึ่ง NIA มองว่าการนำนวัตกรรมมาจับคู่กับสินค้าที่มีอัตลักษณ์พื้นถิ่น การสร้างเรื่องราวให้แก่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรจะช่วยให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเกิดความสนใจพร้อมที่จะจ่ายเงินให้กับสินค้าอย่างไม่ลังเลใจ ทั้งนี้ NIA ตั้งเป้าว่า การจับคู่นวัตกรรมกับสินค้าโอทอปที่มีอัตลักษณ์พื้นถิ่นในครั้งนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเติบโตได้กว่า 10 เท่า

"จากข้อมูลของ AgFunder พบว่า สตาร์ทอัพในธรุกิจการเกษตรได้รับความนิยมในการระดมทุนเป็นอันดับ 9 โดยส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ทอัพที่มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซด้านสินค้าเกษตร โดยเฉพาะในเมืองไทยซึ่งนับว่ามีตลาดการเกษตรขนาดใหญ่ที่พร้อมจะเป็นพื้นที่ให้สตาร์ทอัพได้เติบโตไปพร้อมๆ กับเกษตรกร ดังนั้น NIA จึงคาดหวังว่าโครงการ Agtech4OTOP จะเป็นการเปิดโอกาสครั้งสำคัญให้สตาร์ทอัพได้พัฒนาทักษะ และลงมือปฏิบัติจริง รวมไปถึงการก้าวเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นสัญชาติไทย พร้อมทั้ง สามารถเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจชุมชน การทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้กลายเป็นเกษตรสมัยใหม่ พร้อมเติบโตทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ"

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand