คนที่มารพ.ด้วยอาการปวดฟัน ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่มีฟันผุค่อนข้างมาก และอาจผุทะลุไปยังโพรงประสาทฟัน ซึ่งในฟันเราก็มีเส้นประสาทอยู่ในนั้น เมื่อฟันผุเป็นรูแบคทีเรียก็สามารถเล็ดลอดเข้าไปในช่องนั้นได้ พอแบคทีเรียไปโดนเส้นประสาทฟัน หรือตอนกินข้าวกินน้ำแล้วไปโดน เราจึงปวดฟันจากสาเหตุนี้แหละ
จริงอยู่ที่ว่าการถอนฟันผุออก ก็จะช่วยให้อาการบาดเจ็บลดลงไปได้แบบทันทีทันใด แต่การถอนฟันในซี่ที่ยังมีอาการปวด บวม ติดเชื้อรุนแรง หรือมีหนองร่วมด้วยนั้น การฉีดยาชาลงไปบริเวณที่มีการอักเสบก่อนถอนฟัน อาจจะทำให้ยาชาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ พอยาชาไม่ทำงาน ก็ไม่ต่างอะไรกับการถอนฟันสดๆ นี่แหละ ความเจ็บไม่ต้องพูดถึง แค่นึกก็เสียวฟันตามไปด้วยแล้ว
แนวทางการรักษาส่วนใหญ่ คุณหมอจึงมักจะแนะนำให้คนไข้ทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวดไปก่อน พออาการปวดฟันลดลงแล้วจึงค่อยกลับมาถอนอีกที ยาชาจะได้ทำงานได้เต็มที่ เก็บแรงไว้เจ็บหลังถอนทีเดียวนั่นเอง
ดังนั้นคนที่เป็นฟันผุ แล้วหมอไม่ยอมรีบถอนฟันให้แต่เนิ่นๆ ก็อยากให้เข้าใจแนวทางการรักษาแบบนี้กันด้วยนะ
รวมถึงคนที่ฟันผุไม่มาก หมอก็อาจทำการรักษาแค่การอุดฟันก็เพียงพอแล้ว ใช่ว่าเอะอะจับถอนฟันทุกซี่ที่ไหนกัน ฟันซี่ไหนที่ยังใช้งานได้ก็เก็บไว้อย่างนั้นแหละ เพราะฟันเราเมื่อเอาออกไปแล้วไม่สามารถงอกมาใหม่ได้เหมือนหางจิ้งจกนะ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่มีหมอคนไหนอยากถอนฟันเราพร่ำเพรื่อหรอก
ส่วนกรณีเคสที่ฟันผุมากๆ ดังกล่าว หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดการลุกลามของเชื้อจากตัวฟันไปยังกระดูกขากรรไกร และลามไปยันบริเวณใบหน้าและลำคอได้ ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดมากขึ้น หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ทำให้การรักษายิ่งยากมากขึ้นตามไปอีก
ดังนั้น ถ้าเรามีอาการปวดฟันที่รบกวนชีวิตประจำวันเมื่อไหร่ ก็แนะนำให้รีบมาพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุอาการปวดฟันแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่เสี่ยงมาตอนเป็นหนักแล้ว ทั้งรักษายาก ค่าใช้จ่ายแพง แถมเจ็บตัวนานอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit