สถานการณ์ระบาดของโควิด 19 เป็นสัญญาณเตือนถึงความสำคัญของ "ความมั่นคงทางอาหาร" และเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าความมั่นคงทางอาหาร เป็นปัจจัยที่ช่วยให้โลกก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ไปได้ สำหรับประเทศไทยในวิกฤติโควิดครั้งนี่ เรียกได้ว่า เราไม่ตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร คนไทยยังมีอาหารที่สะอาด ปลอดภัย มีคุณภาพ บริโภคอย่างเพียงพอ ด้วยภาครัฐและภาคเอกชนที่ตระหนักถึงความสำคัญและมีมาตรการรับมือในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี
การสร้างความมั่นคงทางอาหาร หลายโครงการได้รับการสนับสนุนโดยภาคเอกชน หนึ่งในนั้น คือ "โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน" มีโรงเรียนเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ยั่งยืน เพื่อส่งมอบโอกาสในการเข้าถึงโปรตีนคุณภาพให้แก่เด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง ทั้งเด็กนักเรียนในเมือง เด็กนักเรียนตามโรงเรียนชายขอบ เด็กไทย และเด็กต่างด้าว
"โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน" ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ.2563 เข้าสู่ปีที่ 31 แล้ว มีโรงเรียนทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 855 โรงเรียน ด้วยความตั้งใจเดียวกัน คือ อยากเห็นเด็กและเยาวชนมีโภชนาการที่ดี เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ความร่วมมือโดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน หอการค้าญี่ปุ่น - กรุงเทพ ฯ (JCCB) และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จึงเป็นความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
มาทำความรู้จักและติดตามโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ในศูนย์การเรียนรู้อา โยน อู อยู่ที่หมู่ 10 ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ติดกับชายแดนเมียวดี ประเทศพม่า ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 16 แล้ว ศูนย์การเรียนรู้ของเด็กต่างด้าว มีจำนวนนักเรียน 110 คน ครู 7 คน ทั้งหมดเป็นสัญชาติเมียนมา เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ศูนย์เด็กเล็กจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7(Grade 1-7) ใช้หลักสูตรของพม่าในการเรียนการสอน มีวิชาภาษาไทยเข้าไปเสริม และมีการสอนหลักสูตรการศึกษานอกระบบด้วย (กศน.) โดยมีนักเรียนที่ศึกษาในระบบ กศน.จำนวน 7 คน
ก่อนหน้านี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการเรียนการสอนของศูนย์ฯ และต่อยอดสู่การดูแลสุขอนามัยของเด็กนักเรียนในศูนย์ ฯ ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมมือกับองค์กรระดับสากล อาทิ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ดูแลด้านโภชนาการของเด็กในศูนย์แห่งนี้
นายจ่อซาน ผู้อำนวยการศูนย์การเรียน อา โยน อู กล่าวว่า การเปิดศูนย์การเรียนรู้ อา โยน อู เพื่อให้ลูกหลานของชาวเมียนมาที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยได้รับการศึกษาและรณรงค์ห่างไกลยาเสพติด เริ่มแรกที่มีการเปิดการเรียนการสอน มีเพียงชั้นเด็กเล็กจนถึง ประถมศึกษาปีที่ 2 (Gread 2) จากนั้นได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนค่าเช่าที่ดินที่เปิดสอน อาคารเรียน เงินเดือนครู ฯลฯ ทางศูนย์ฯ สามารถรับนักเรียนได้เพิ่มขึ้น จนถึงปัจจุบันเปิดสอนจนถึง Grade 7 นอกจากหลักสูตรการเรียนการสอนในห้องเรียนแล้ว ทางศูนย์ฯ สนับสนุนให้เด็กๆ เรียนรู้กิจกรรมอื่นๆ อาทิ การเลี้ยงไก่ไข่ การปลูกผักสวนครัว เพื่อที่เด็กๆจะสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ๆไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ครูปีเตอร์ ครูสอนภาษาไทยของศูนย์ ฯ เล่าว่า ศูนย์ฯตั้งบนพื้นที่กว้าง 5-6 ไร่ เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เมื่อปี 2559 โดยได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ สนับสนุนแม่พันธุ๋ไก่ไข่ อุปกรณ์การเลี้ยงไก่ อาหารสัตว์ให้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในปีแรก ปัจจุบัน ศูนย์ฯเลี้ยงไก่ไข่ เข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว จำนวนไก่ที่เลี้ยง 120 ตัว สามารถนำผลผลิตไข่ไก่มาเป็นวัตถุดิบส่งเข้าโครงการอาหารกลางวัน นอกจากทั้งนักเรียนและคุณครู ได้รับประทานไข่ที่สด สะอาด ทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรงแล้ว ยังได้รับความรู้และได้ลงมือปฏิบัติในการเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งจะเป็นความรู้ที่ติดตัวเด็กๆนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอนาคต
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะโควิด 19 ระบาด โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ มีประโยชน์อย่างมากทั้งต่อเด็กๆ และชุมชนรอบข้าง โดยที่ศูนย์ฯ นำผลผลิตไข่ไก่ ข้าวสาร และน้ำมัน แจกจ่ายให้นักเรียนและชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนช่วงโควิด และถึงแม้ว่าผลกระทบจากการ
ระบาดของโควิด จะทำให้ศูนย์ฯต้องหยุดการเรียนการสอนไว้ชั่วคราว แต่คุณครูก็ยังไปสอนหนังสือให้นักเรียนตามบ้าน นำไข่ไก่ไปให้นักเรียนได้บริโภคด้วย
เด็กชายชิเหว่ทวย เรียนอยู่ชั้น ป.7 ซึ่งได้รับมอบหมายให้ช่วยรับผิดชอบ ให้น้ำ ให้อาหาร และเก็บไข่ไก่ กล่าวว่า มีความสุขและรู้สึกสนุก ที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ และยังได้ความรู้วิธีการเลี้ยงไก่ที่ถูกต้อง ตั้งใจว่าจะใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเลี้ยงไก่ไข่ ให้เป็นประโยชน์ โตขึ้นอยากเลี้ยงไก่เองที่บ้าน เพื่อเป็นอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว
ด้าน นางสาว เตนเตน เหว่ คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่ ของศูนย์ฯ กล่าวว่า ขอบคุณทางซีพีเอฟ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ที่สนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯให้ทางศูนย์การเรียนรู้ ทำให้เด็กๆได้บริโภคไข่ไก่อย่างสม่ำเสมอ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ผู้ปกครองนักเรียนเองได้บริโภคไข่ไก่ที่สด สะอาด ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด เพราะผลผลิตไข่ไก่ส่วนที่เกินจากที่นักเรียนบริโภคเป็นอาหารกลางวัน ทางศูนย์ฯได้นำมาขายให้ผู้ปกครองในราคาแผงละ 80-85 บาท (แผง 30 ฟอง) และทางศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่อื่นๆ ก็เคยมาอุดหนุนไข่ไก่ของศูนย์การเรียนรู้อา โยน อูด้วย
ศูนย์การเรียนรู้ อา โยน อู เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จจากโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ซึ่งซีพีเอฟ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และเครือข่ายพันธมิตร มุ่งมั่นร่วมกันที่จะมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเดินหน้าส่งมอบโครงการฯให้โรงเรียนต่างๆทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้ จะส่งมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ให้โรงเรียนบ้านทุ่งมน ตำบลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และส่งท้าย ปี 2563 ส่งมอบให้โรงเรียนบ้านเมืองเก่า"ศรีอินทราทิตย์" ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ในเดือนธันวาคม ส่งเสริมเด็กและเยาวชนเข้าถึงอาหารโปรตีนคุณภาพอย่างไข่ไก่ เพื่อการเติบโตที่สมวัยทั้งร่างกายและสติปัญญา
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit