กยท. ห่วงใยชาวสวนยาง เตือนช่วงฝนตกหนักน้ำอาจท่วมขัง กังวลโรคไฟทอปโธราฉวยโอกาสซ้ำช่วงอากาศชื้น แนะดูแลป้องกันอย่างถูกวิธี
ดร. กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่าตามธรรมชาติของต้นยางพาราเป็นพืชที่สามารถทนต่อน้ำท่วมขังได้พอสมควร ประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน โดยขึ้นอยู่กับอายุของต้นยาง ระดับน้ำและความยาวนานของน้ำที่ท่วมขัง โดยต้นยางที่มีอายุน้อยจะทนต่อการท่วมขังของน้ำได้น้อยกว่าต้นยางที่โตแล้ว เช่น ยางพาราที่มีอายุ 2-8 เดือน สามารถทนน้ำท่วมได้ไม่เกิน 15 วัน และหากน้ำท่วมยอด ต้นยางจะตายภายใน 7 วัน เมื่อต้นยางถูกน้ำท่วมจะส่งผลให้ก๊าซออกซิเจนในดินต่ำลง ทำให้พืชขาดก๊าซออกซิเจนที่นำไปใช้หายใจ อาจเกิดการเสียสมดุลของธาตุอาหารบางชนิด เช่น ธาตุเหล็ก อะลูมินัม อาจมีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อต้นยางพาราโดยตรง สังเกตจากต้นยางจะมีลำต้นแคระแกรน ใบเหลืองซีด บางครั้งพบปลายยอดแห้งตาย รากเน่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งรากฝอย หากท่วมขังเป็นเวลานานจะทำให้ต้นยางยืนต้นตายหรือต้นยางโค่นล้มเนื่องจากดินบริเวณโคนอ่อนตัว
อย่างไรก็ตาม ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกษตรกรชาวสวนยางหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการฟื้นฟูสวนยางให้ดีขึ้นหลังจากน้ำลดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด กยท. แนะนำเกษตรกรสำรวจความเสียหายสภาพสวนยาง เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูและจัดการสวนยางหลังจากถูกน้ำท่วม กรณีน้ำท่วมสวนยางเกินกว่า 30 วัน เกษตรกรควรเร่งระบายน้ำออกจากสวน หากน้ำบริเวณรอบสวนยางมีระดับสูงกว่า ไม่สามารถระบายออกได้ ให้ขุดร่องน้ำกึ่งกลางระหว่างแถวยาง เพื่อให้น้ำระบายไปอยู่ในร่องที่ขุดไว้ โดยใช้แรงงานคนและเครื่องจักรขนาดเล็กเท่านั้น จากนั้นรอให้น้ำแห้งและดินแข็งตัวก่อนจึงเข้าไปปฏิบัติงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายรากโดยเฉพาะรากฝอยที่เจริญขึ้นมาใหม่ และที่สำคัญไม่ควรใส่ปุ๋ยใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอกและปุ๋ยชีวภาพในขณะที่ดินยังไม่แห้ง เพราะจะทำให้ธาตุไนโตรเจนที่อยู่ในรูปไนเตรท และยูเรียเปลี่ยนรูปเป็นไนไตรท์ ซึ่งเป็นพิษต่อต้นยาง เนื่องจากต้นยางทรุดโทรมจากระบบรากที่ขาดก๊าซออกซิเจนอยู่ จะทำให้ต้นยางเสียหายมากขึ้น ทำให้ต้นยางฟื้นตัวได้ช้าและต้นที่อ่อนแออาจจะตายได้ นอกจากนี้การใส่ ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยคอกจะไปส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในดินซึ่งมีการหายใจมากขึ้นส่งผลให้รากยางขาดออกซิเจนเพิ่มขึ้น ดังนั้น เกษตรกรไม่ควรใส่ปุ๋ยทันที ต้องรอให้ยางฟื้นตัวและแข็งแรงเสียก่อน โดยให้รีบใส่ปุ๋ยบำรุงทันทีในช่วงต้นฤดูฝนปีถัดไป
ขณะเดียวกัน กยท. ยังมีความกังวลถึงโรคยางพาราที่มากับช่วงหน้าฝน โดย ดร. กฤษดา ได้กล่าวว่าโรคในต้นยางพาราที่มักจะมาในช่วงฤดูฝนคือ โรคใบร่วงไฟทอฟธอรา (Phytophthora) ซึ่งมักจะระบาดในสวนยางพารา เนื่องจากโรคนี้แพร่ระบาดโดยน้ำฝน ลม ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและจำนวน วันฝนตก รวมถึงอุณหภูมิที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อ อยู่ระหว่าง 25-28 องศา เติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็น ฝนตกชุก เชื้อไฟทอฟธอรานั้นจะอาศัยน้ำและความชื้นในการขยายพันธุ์ หากสภาพอากาศชื้นสูงต่อเนื่องติดกัน มีน้ำท่วมขัง หรือต้นยางรับแสงแดดน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน พันธุ์ยางที่ปลูกอ่อนแอไม่ต้านทานโรค ก็เป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดการติดโรคนี้ได้ ลักษณะอาการสามารถสังเกตอาการได้เด่นชัดที่ก้านใบจะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ตามความยาวของก้านใบ แผลบริเวณที่เป็นทางเข้าของเชื้อมักมีหยดน้ำยางเล็ก ๆ เกาะติดอยู่ การเข้าทำลายที่ก้านใบนี้เอง ทำให้เกิดใบร่วงทั้งที่ใบยังมีสีเขียวสดอยู่ เมื่อนำมาสะบัดเบา ๆ ใบย่อยจะหลุดออกจากก้านใบโดยง่ายต่างจากการร่วงโดยธรรมชาติ บนแผ่นใบย่อยเชื้ออาจเข้าทำลายที่ปลายใบหรือขอบใบ เกิดแผลสีน้ำตาล มีลักษณะช้ำน้ำขยายติดต่อกันเป็นแผลใหญ่ทำให้ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแดงก่อนที่จะร่วง นอกจากนี้ยังพบว่า เชื้อนี้สามารถเข้าทำลายฝักยางได้ทุกระยะทำให้ฝักเน่า ถ้าความชื้นในอากาศสูงจะพบเชื้อราสีขาวเจริญปกคลุมฝัก ฝักที่ถูกทำลายจะเน่าดำค้างอยู่บนต้นไม่แตกและร่วงหล่นตามธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งเชื้อโรคในปีถัดมาได้
ขณะที่ นางอารมณ์ โรจน์สุจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี กล่าวเพิ่มเติมถึงวิธีการป้องกันเชื้อไฟทอฟธอราว่า เกษตรกรควรบำรุงรักษาสวนยางให้สมบูรณ์โดยใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คือช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน เพื่อสร้างความทนทานแข็งแรงให้ต้นยาง เกษตรกรในรายที่ปลูกพืชที่เป็นแหล่งอาศัยของเชื้อ เช่น ส้ม ทุเรียน พริกไทย ปาล์ม โกโก้ เป็นพืชแซมยาง ควรดูแลเป็นพิเศษเนื่องจากอาจนำเชื้อมาระบาดสู่ต้นยางได้ กำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวนยางให้อากาศถ่ายเท ให้แสงแดดส่องได้สะดวกทั่วถึง เพื่อลดความชื้นในสวนยาง หากเกษตรกรชาวสวนยางพบว่าต้นยางติดโรคให้ใช้สารเคมี metalaxyl หรือ fosetyl-aluminium อัตราส่วน 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นใบยางอ่อนเมื่อพบการระบาดทุก ๆ 7 วัน ในต้นยางใหญ่ที่เกิดใบร่วงอย่างรุนแรงเกิน 50 % ควรหยุดกรีดยางทันที และบำรุงต้นยางให้สมบูรณ์ หรือสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่การยางแห่งประเทศไทย ในพื้นที่ได้ในวันและเวลาทำการ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit