จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกได้ประสบกับการระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 (COVID-19) ที่มีผู้ติดเชื้อทะลุ 48 ล้านคนทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์และธุรกิจอื่นๆ มุ่งมั่นสรรหาเทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับไวรัสชนิดนี้ หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก คือ UVC หรือ เทคโนโลยีฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตเพราะนี่ถือเป็นเทคโนโลยีทำความสะอาดและฆ่าเชื้อที่ลดการสัมผัสโดยตรงของผู้ใช้งาน เพียงแค่สาดแสงลงไปก็กำจัดเชื้อโรคได้และช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้
ในช่วงที่ประเทศจีนกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ระบาดของโควิด-19ก็ได้มีการนำเข้าเครื่องฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตหรือ UVC กว่าพันเครื่องเพื่อใช้ในโรงพยาบาล หลากหลายประเทศทั่วโลกทั้งในเอเชีย ยุโรป และ อเมริกา ก็ได้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ ต่อสู้กับเชื้อไวรัส เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่หยิบมาใช้งานแล้วเช่นกันโดยเฉพาะสถานการณ์โควิดที่ยังสามารถกลับมาระบาดได้ทุกๆเมื่อ
นวัตกรรม UVC นี้คืออะไร
รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) หรือ UV เป็นรังสีตามธรรมชาติที่อยู่ในแสงอาทิตย์ มีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ UVA, UVB และ UVC เราอาจจะคุ้นหูกับ UVA และ UVB เนื่องจากรังสีทั้ง 2 สามารถเดินทางผ่านชั้นโอโซนมายังโลกและสามารถทำร้ายผิวของเราได้ แต่ UVC นั้น เป็นรังสีที่ไม่สามารถเดินทางผ่านชั้นโอโซนมาได้ เราจึงไม่ค่อยได้ยินชื่อ UVC ในชีวิตประจำวันมากนัก แต่ UVC นั้นกลับกลายเป็นรังสีที่มีบทบาทสำคัญในการฆ่าเชื้อโรคและในวงการการแพทย์จากความสามารถเฉพาะตัวของมันนั่นเอง
UVC เป็นรังสีที่มีความยาวคลื่นสั้นที่สุดในรังสี 3 ชนิด แต่กลับมีพลังงานสูงที่สุด จนได้ชื่อว่า Germicidal Light หรือแสงที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและต่อมนุษย์เอง จึงมีการนำมาใช้ฆ่าเชื้อโรคเป็นหลักด้วยวิธีการใช้แสงยูวีที่มีความเข้มข้นสูงพิเศษ หรือ Ultraviolet Germicidal Irradiation (UVGI) เพื่อฆ่าเชื้อไวรัส แบคทีเรียและเชื้อโรคชนิดต่างๆ ในอากาศและพื้นผิว
เราอาจจะเห็นเครื่องฆ่าเชื้อด้วย UVC เพิ่มขึ้นมากในหลายประเทศทั่วโลกในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ความจริงแล้วการฆ่าเชื้อโรคด้วย UVC ถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1892 หรือประมาณ 128 ปีมาแล้วโดยการทดลองของ Marshall Ward แต่เพิ่งเป็นที่รู้จักและเริ่มใช้งานกันอย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลหลังจากมีการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ ที่รู้จักกันดีในชื่อ โรคซาร์ส (SARS) ในช่วงปลายปี พ.ศ.2545 และ โรคเมอร์ส (MERS) ในปีพ.ศ.2555
UVC ฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือ?
ปัจจุบันมีผลการวิจัยและการทดสอบมากมาย ทั้งจากสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลที่พิสูจน์ได้ว่า UVC มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% โดยเชื้อโรคเหล่านั้น มีตั้งแต่ ไข้หวัด 2009 (H1N1) เชื้อวัณโรค (TB) สารก่อภูมิแพ้หอบหืด รวมถึงเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่กำลังเป็นโรคระบาดรุนแรงในปัจจุบัน ทั้งนี้ UVC สามารถฆ่าเชื้อโรคทั้งที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ บนพื้นผิวทั่วไป และในน้ำได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม UVC ที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงโควิด-19 ได้นั้น จะต้องเป็นระบบการใช้แสง UV ที่มีความเข้มข้นสูงพิเศษ ความยาวคลื่น 253.5 นาโนเมตร ที่มีความเข้มข้นและระยะเวลาการฆ่าเชื้อที่เหมาะสม
ประสิทธิภาพของ UVC vs. การฆ่าเชื้อโรคแบบอื่นๆ
ความที่ UVC มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% จึงมีข้อได้เปรียบกว่าการฆ่าเชื้อโรคแบบอื่นๆ เช่น การฉีดพ่นสารเคมี การเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ ทั้งในด้านความสะดวกในการใช้งาน เวลาทำความสะอาดที่ใช้เพียงไม่กี่นาที ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค ค่าใช้จ่ายต่อครั้งต่ำ สามารถลดมลพิษและกลิ่นไม่พึงประสงค์ในอากาศ เช่น สารอินทรีระเหยง่าย ลดสิ่งคุกคามสุขภาพที่มาพร้อมกับอาคารระบบปิด และที่สำคัญคือไม่ทิ้งสารเคมีที่เป็นอันตรายไว้หลังการใช้งาน จึงมีความปลอดภัย แก่ผู้ใช้
อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมนี้ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการใช้งานด้านการควบคุมทางวิศวกรรม (Engineering Controls) การฆ่าเชื้อด้วย UVC จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในพื้นที่ปิด ห้องปฏิบัติการที่มีอุปกรณ์น้อย สภาพอากาศที่มีความชื้นต่ำ และในอุปกรณ์ที่มีพื้นผิวเรียบเพื่อที่แสงจะตกกระทบได้มากที่สุด จึงกล่าวได้ว่า เหมาะกับองค์กร หรือหน่วยงานใหญ่ มากกว่าการนำไปใช้ในครัวเรือน
โรงพยาบาลไทยก็ใช้แล้ว
สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ที่ทำให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาด การฆ่าเชื้อโรค และการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส ทำให้เราเห็นเทคโนโลยีฆ่าเชื้อด้วย UVC มากขึ้นในโรงพยาบาลหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี โรงพยาบาลบำราศนราดูร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นต้น
โรงพยาบาลศิริราชที่มีเครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสี UVC ถึง 3 เครื่อง ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในห้องผ่าตัด ห้อง ICU รวมไปถึงหอผู้ป่วยแยกโรคโควิด-19 และยังมีการวางแผนที่จะนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้ในห้องผู้ป่วยติดเชื้อ ต่างๆ อีกด้วย
นอกจากใช้ในโรงพยาบาลแล้ว เทคโนโลยีฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตยังถูกนำไปใช้กับการวิจัยอื่นๆ อีก โดยเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจได้รายงานว่า ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ทดลองการฆ่าเชื้อด้วยการฉายรังสีอัลตราไวโอเลตเพื่อนำหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ซ้ำ ผลการทดสอบพบว่า ในการฉายรังสีเป็นเวลา 30 นาที สามารถทำลายเชื้อโควิด-19 ทั้งยังทำลายเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในหน้ากากได้และยังพบว่าเส้นใยของหน้ากากอนามัยไม่เสียหายจนเสียประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อโรคอีกด้วย
อาจารย์สุวัฒน์ สุขสวัสดิ์ อาจารย์สาขาภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานพยาบาล ภาควิชาเทคโนโลยีและสุขภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ให้สัมภาษณ์ถึงการฆ่าเชื้อในโรงพยาบาลว่า "(ปัจจุบันนั้น) การฆ่าทำลายเชื้อในโรงพยาบาล จะมีหลักการเบื้องต้น คือ การขจัดการปนเปื้อน (Decontamination) เช่น การขจัดการปนเปื้อนเชื้อออกจากตัวคน เครื่องมือหรืออุปกรณ์ มีระดับการขจัดการปนเปื้อน ตั้งแต่การเช็ดทำความสะอาด (Cleaning) ทั่วไป การฆ่าทำลายเชื้อ (Disinfection) การทำลายหรือลดจำนวนเชื้อโรคลง จนถึงระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ การทำให้ปราศจากเชื้อหรือปลอดเชื้อ (Sterilization) คือ การกำจัดหรือทำลายเชื้อโรคทุกชนิด รวมทั้งสปอร์ของเชื้อโรคได้ โดยกระบวนการฆ่าทำลายเชื้อจะใช้ 2 หลักการใหญ่ๆ คือ การฆ่าทำลายเชื้อโดยวิธีทางกายภาพ เช่น การฉายรังสียูวีซี (UVC) การใช้ความร้อนชื้น (Moisture heat) ความร้อนแห้ง (Dry heat) เป็นต้น และการฆ่าทำลายเชื้อโดยวิธีทางเคมี เช่น การเช็ดด้วย 70% Alcohol การแช่ 0.5% Sodium hypochlorite การอบด้วย 35% Hydrogen peroxide เป็นต้น สิ่งสำคัญในการเลือกใช้วิธีการใดในการฆ่าทำลายเชื้อ มีหลักการที่ต้องนำมาพิจารณาเสมอ คือ ใช้ฆ่าเชื้ออะไร ความเข้มข้นเท่าไหร่ ระยะเวลานานแค่ไหน"
"วิธีการฆ่าทำลายเชื้อแต่ละวิธีจะมีข้อดี และข้อเสีย ต่างๆ กัน เช่น การใช้น้ำยาเช็ดทำความสะอาดพื้นผิว ข้อดี คือเชื้อจะไม่ฟุ้งกระจายขณะทำการเช็ด แต่มีข้อเสียคือเช็ดได้ไม่ทั่วพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อ จึงต้องใช้วิธีการฆ่าเชื้อด้วยการฉีดพ่น และการอบด้วยน้ำยา แทนหรือเสริมการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิว ซึ่งมีข้อดี คือสามารถฆ่าเชื้อได้ทั่วทุกพื้นผิว แต่กระบวนการฉีดพ่น และการอบ จะมีความเสี่ยงอันตรายสูง จึงต้องดำเนินการโดยผู้ฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ดังนั้น จะเห็นว่าไม่มีวิธีการฆ่าทำลายเชื้อวิธีใดดีที่สุดในทุกสถานการณ์ จึงควรเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละสถานการณ์ และเป็นวิธีที่ประเมินแล้วว่าจะได้รับประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นเสมอ"
สำหรับการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ใช้บริการนั้น อาจารย์สุวัฒน์กว่าวว่า "หลักการพื้นฐานในการลดหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงหรือสิ่งคุกคามสุขภาพ (Hazards) ให้บุคลากรหรือผู้ใช้บริการมีความปลอดภัย จะมีอยู่ 4 มาตรการ มีประสิทธิภาพดีที่สุด คือ การกำจัด/การทดแทน (Elimination/Substitution) เช่น การกำจัดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ให้หมดไปจากโรงพยาบาล เป็นต้น มาตรการที่มีประสิทธิภาพรองลงมา คือ การควบคุมทางวิศวกรรม (Engineering control) เช่น เทคโนโลยีการสร้างหอผู้ป่วยที่มีระบบระบายอากาศเหมาะสมสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยเตียงเคลื่อนย้ายแรงดันลบ เป็นต้น ต่อมาเป็นมาตรการควบคุมด้วยการบริหารจัดการ (Administrative control) เช่น เทคโนโลยีการอบรมแบบออนไลน์ การทำงานที่บ้านเพื่อลดการไปสัมผัสเชื้อ เป็นต้น มาตรการสุดท้าย ซึ่งมีประสิทธิภาพการควบคุมสิ่งคุกคามสุขภาพน้อยที่สุด คือ มาตรการด้านบุคคล (Personal control) เช่น สุขอนามัยส่วนบุคคล การสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment, PPE) เช่น หน้ากาก เสื้อคลุม ถุงมือ เป็นต้น"
ข้อได้เปรียบของ UVC
จากคุณสมบัติของ UVC ที่ได้กล่าวมาข้างต้น เมื่อนำเปรียบเทียบกับการฆ่าเชื้อโรคด้วยวิธีอื่นๆ จะพบว่าการฆ่าเชื้อด้วย UVC มีความโดดเด่นหลายประการ ทั้งนี้ อาจารย์สุวัฒน์ได้ให้ข้อมูลในประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันมีการนำ UVC มาติดตั้งและใช้งานหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ติดตั้งแบบ Stand Alone เช่น Upper room UVGI, เครื่องฟอกอากาศ เป็นต้น หรือแบบที่ติดตั้งในท่อ และแผงคอยล์เย็นของระบบระบายอากาศ หรือนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นในปัจจุบัน เช่น หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วย UVC เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะใช้แสง UVC ที่มาจากการสังเคราะห์ขึ้นโดยใช้หลอด UV เพราะแสง UVC ที่มาจากธรรมชาติ คือแสงแดดจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมาที่พื้นผิวโลกเรานั้นไม่มี UVC เนื่องจากโอโซนในชั้นบรรยากาศดูดซับไว้หมดแล้ว ส่วนที่ทะลุผ่านมาถึงผิวโลกได้มากที่สุดเป็น UVA และ UVB ที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้
"UVC จัดว่าเป็นเทคโนโลยีสำหรับการฆ่าเชื้อโรคที่มีข้อดี/ข้อได้เปรียบ คือ ราคาถูก ลงทุนน้อย ฆ่าเชื้อโรคได้เกือบทุกชนิด ประหยัดพลังงาน ยกระดับคุณภาพอากาศภายในอาคาร (Indoor air quality) ลดมลพิษในอากาศ เช่น สารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile organic compounds, VOCs) ซึ่งบางชนิดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และยังสามารถใช้ได้หลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย (Residential building) ไปถึงอาคารพานิชย์ (Commercial building) โดยเฉพาะ โรงพยาบาล โรงแรม โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ยา และวัคซีน เป็นต้น จึงเหมาะสำหรับหน่วยงานที่งบประมาณน้อย ได้เข้าถึงเทคโนโลยีการฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพได้"
"แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เทคโนโลยี UVC ฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ใช้ควรให้ความสำคัญกับการออกแบบระบบ UVC ให้มีค่าความเข้ม (Density) ของแสง UVC ระยะเวลาที่เชื้อโรคสัมผัส (Contact time) กับแสง UVC และระยะห่าง (Distance) ที่เหมาะสมกับเชื้อโรคชนิดต่างๆ ควรศึกษาข้อควรระวัง การบำรุงรักษาจากคู่มือการใช้งาน รูปแบบการติดตั้ง สถานที่ติดตั้งหรือใช้งาน ควรคำนึงถึงปัจจัยที่อาจจะมีผลต่อประสิทธิภาพของการฆ่าเชื้อโรค รวมถึงมาตรการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของบุคลากรที่มีโอกาสไปสัมผัสแสง UV ด้วย"
คุณลลนา เลิศสมิติวันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอเมอร์สัน กรุ๊ป (Emerson Group) กล่าวว่า บริษัทมีความยินดีที่ได้นำเทคโนโลยีที่ได้รับรางวัล Excellence Award อย่างเครื่อง Hyperlight Disinfection Robot ที่ผลิตโดยบริษัทที่ได้รับรางวัลด้านการออกแบบยอดเยี่ยมระดับโลก Red Dot Award มาใช้ในประเทศไทย ให้บุคคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมั่นใจมากขึ้นในช่วงของวิกฤตการณ์ COVID-19 นี้ ซึ่งปกติแล้วหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคจะถูกใช้งานในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลเพราะห้องผ่าตัดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลอดเชื้อ วัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างรวมถึงห้องผ่าตัดเองจะต้องได้รับการฆ่าเชื้ออย่างดีเพื่อป้องการการติดเชื้อระหว่างการผ่าตัด จะมีการกระจายตัวของเชื้อโรคต่างๆมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในโรงพยาบาล
"สถานการณ์การระบาดดังเช่นปัจจุบันทำให้ต้องให้ความสำคัญต่อการฆ่าเชื้อในพื้นที่อื่นด้วยมาตรฐานเดียวกับห้องผ่าตัด และการฆ่าเชื้อต้องทำได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วทันการณ์ ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลหลายแห่งสนใจเทคโนโลยีนี้และได้ประสานมาทางบริษัท ซึ่งทางเราเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง รวมทั้งจุดเด่นในแง่ของความคุ้มค่าต่อเม็ดเงิน และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะมีการนำเทคโนโลยีฆ่าเชื้อด้วย UVC มาใช้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในอนาคต"
ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เราได้เห็นการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปเป็นอย่างมากจากการที่ทุกๆ คนต้องระมัดระวังตัวเวลาอยู่ในที่สาธารณะเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อโรคให้มากที่สุด โรงพยาบาล ร้านอาหาร ห้าง และสถานที่ต่างๆ เรียนรู้ที่จะประเมินสถานการณ์และบริหารความเสี่ยงทั้งต่อตัวผู้ประกอบการเองและผู้มาใช้บริการ จึงมีการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมผู้เชียวชาญที่มีความเป็นมีอาชีพในเรื่องสุขอนามัย เพิ่มมากขึ้นในการฆ่าเชื้อโรคให้เข้ากับสิ่งที่เราต่างเผชิญอยู่ ในอนาคตเราจะเห็นการฆ่าเชื้อด้วยการฉายรังสีอัลตราไวโอเลตมากขึ้นในโรงพยาบาลและในสถานที่อื่นๆ ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะกลายเป็น "new normal" ของการฆ่าเชื้อในก็เป็นได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit