ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หรือ SICRES (Siriraj Institute of Clinical Research) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับงานวิจัยทางคลินิก เผยพบหลักฐานว่า ยาคลอโรควิน (chlorquine) ซึ่งเป็นยารักษามาลาเรียเป็นหนึ่งในตัวยาที่ถูกนำมาปรับใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 โดยพบว่า ยาคลอโรควินสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้ และมีการศึกษาเบื้องต้นยืนยันประสิทธิภาพในคน ล่าสุด ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราชจึงได้จัดตั้งโครงการวางแผนวิจัย เพื่อนำยาคลอโรควินมาทดลองในมนุษย์ และขณะนี้ได้เปิดรับอาสาสมัคร ซึ่งเป็นผู้อาศัยร่วมบ้านกับผู้ป่วยโควิดแล้ว จำนวน 400 คน คาดว่า จะใช้เวลา 1 เดือน
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก หรือ SICRES กล่าวว่า SICRES ได้ทุ่มเททำการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาคำตอบเพื่อหาวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ในประเทศไทย จากการวิจัยเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่พบว่าการติดเชื้อประมาณ 70-80% เกิดจากการติดต่อกันในครอบครัว เมื่อมีสมาชิกในครอบครัวป่วยหนึ่งคน โอกาสเสี่ยงของสมาชิกคนอื่นๆ จะมีสูงมากที่จะติดโควิด ทั้งแบบที่แสดงอาการหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันสมาชิกในบ้านไม่ให้ติดเชื้อเพิ่มเติม และไม่ไปแพร่เชื้อต่อ จึงเกิดการค้นคว้าเอายาต้านเชื้อโควิด มาป้องกันผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ซึ่งมีหลักฐานว่า ยาคลอโรควิน (chloroquine) ซึ่งเป็นยารักษามาลาเรียมากว่า 70 ปีที่พบว่ามีความปลอดภัยสูง กลายเป็นหนึ่งในตัวยาแห่งความหวังที่นำมาปรับใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 หลังจากมีการศึกษาในหลอดทดลองแล้วพบว่า สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้ และมีการศึกษาเบื้องต้นยืนยันประสิทธิภาพในคน แต่ประสิทธิผลที่แน่ชัดในคนกำลังมีการศึกษาอยู่
“ศูนย์วิจัย SICRES เริ่มเขียนแบบแผนการดำเนินโครงการ (Protocols) วางแผนงานวิจัย ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะส่งให้คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของศิริราชพิจารณาอนุมัติโครงการวิจัย จัดทำเอกสารการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล จนกระทั่งปัจจุบันมีความพร้อมที่จะนำยาคลอโรควินมาทดลองในคน ซึ่งขณะนี้โครงการได้เปิดรับอาสาสมัคร ซึ่งต้องเป็นผู้อาศัยร่วมบ้านกับผู้ป่วยโควิด จำนวน 400 คน”
“โดยทันทีที่ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 1 ราย เราจะรีบไปเชิญสมาชิกในบ้านที่ยังไม่ป่วยให้มาเข้าร่วมการศึกษาก่อนที่จะป่วยตามไปก่อน โดยจะให้สมาชิกร่วมบ้านกับผู้ป่วยกินยาคลอโรควิน 2 ครั้ง ครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม โดยครั้งแรกคือทันทีที่รู้ว่ามีคนในบ้านป่วยเป็นโควิด-19 หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ให้กินครั้งที่สอง หากการศึกษานี้ได้ผลดีตามที่คาด จะเป็นการป้องกันการแพร่ของเชื้อที่ได้ผลมาก เพราะการแพร่เชื้อในบ้านจุดที่ทำให้เกิดการกระจายเชื้อสู่ชุมชนเป็นวงที่กว้างขึ้น เด็กๆที่ติดเชื้อจากที่บ้าน ก็อาจเอาไปแพร่ต่อในโรงเรียน การป้องกันการแพร่เชื้อในบ้านที่ได้ผลดี จึงเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดที่ได้ผลดี ผู้ป่วยเองก็ไม่ต้องกังวลว่า คนที่รักที่บ้านจะป่วยตามเพราะสามารถกินยาป้องกันได้
“การศึกษานี้ถ้าได้ผลดี ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์แต่มวลมนุษยชาติยังได้ประโยชน์จากการศึกษานี้ด้วย ประชาชนเข้าถึงยาได้ในราคาถูก และปลอดภัย สำหรับระยะเวลาในการศึกษาขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีจำนวนอาสาสมัครที่จะเข้าร่วมโครงการศึกษานี้ได้เร็วเพียงใด หากมีอาสาสมัครครบ 400 คนแล้ว คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน”
“ทั้งนี้ ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยมีสถิติดีขึ้น มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ลดลงมาก ทำให้ระยะเวลาการศึกษากับกลุ่มอาสาสมัครในเมืองไทยอาจยาวนานกว่าที่คาดการณ์ แต่ถ้ามีการระบาดระลอกที่สอง เราก็อยากจะได้คำตอบรอไว้ใช้งานเลย”
“เรามีความร่วมมือกับองค์กรที่ดำเนินงานด้านโควิด-19 อีกหลายแห่ง อาทิ องค์กรเพื่อการริเริ่มจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases initiative, DNDi) ซึ่งทางองค์กรได้ขอนำโมเดลการศึกษานี้ของ SICRES ไปใช้ศึกษาในต่างประเทศด้วย ซึ่งศิริราชยินดีและให้ความร่วมมือ โดยในระยะเวลาอันใกล้ โดยผลการศึกษาจากการนำโมเดลนี้ไปใช้ในประเทศที่กำลังมีการแพร่ระบาดอย่างได้ผล จะสะท้อนความสำเร็จของนักวิจัยไทย”
ผู้อำนวยการศูนย์ SICRES กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตั้งคำถามวิจัย สู่การเขียนโครงการและการประเมินจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ทุกขั้นตอนต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และต้องมีคุณภาพและความปลอดภัยสูง ซึ่งเมื่อเปิดโครงการศึกษาปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ความเชื่อมั่นของผู้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร และทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งประเทศไทยยังพบว่ามีอุปสรรคพอสมควร
“งานวิจัยไม่ใช่งานส่วนตัว แต่จะกลายเป็นงานที่มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อผู้ป่วย เพื่อประเทศ และเพื่อมนุษยชาติ หากมีระบบการจัดการสนับสนุนที่จริงจังจะนำไปสู่งานนวัตกรรมที่ออกสู่ตลาดได้ หมออยากให้คนไทยรู้ว่าประเทศเราไม่น้อยหน้าใครในเรื่องงานวิจัย อยากให้คนไทยเห็นความสำคัญของการสร้างงานวิจัย ต่อยอดงานวิจัย และมั่นใจได้ว่างานวิจัยในมนุษย์ของประเทศไทยมีคุณภาพสูงมาก มีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ที่ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของอาสาสมัคร ไม่ต้องกังวลว่าเราจะเป็นหนูทดลอง เพราะมีระบบรองรับดูแลอย่างดี ที่สำคัญอยากให้ประชาชนคนไทย ได้เข้าใจว่า งานวิจัยคือหัวใจของการพัฒนายาและวิธีการรักษาผู้ป่วย การรักษาทางการแพทย์ในปัจจุบันที่มีพัฒนาการและมีประสิทธิภาพ สามารถรักษาโรคยากๆได้ ก็ล้วนได้มากจากผลงานวิจัยทั้งสิ้น งานวิจัยต้องทำในประเทศไทยจึงจะทราบแน่ชัดว่าได้ผลกับคนไทย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการสนับสนุนงานวิจัยทางการแพทย์ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการปฏิบัติการอื่นๆทางการแพทย์ ซึ่งศิริราชให้ความสำคัญกับงานวิจัยเพื่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก”
“เพราะแม้ว่าศูนย์วิจัย SICRES จะได้รับทุนดำเนินงานจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แต่เพราะงานวิจัยจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง การศึกษาวิจัยมีความจำเป็นต้องใช้เงินสมทบทุนจากส่วนอื่นๆ มาช่วยสนับสนุนการศึกษา หากมีผู้บริจาคเข้ากองทุนวิจัยโดยตรง ภาระของศิริราชก็น้อยลง การพัฒนาโรงพยาบาลก็ทำได้คล่องตัวมากขึ้น ไปพัฒนางานบริการได้มากขึ้น” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว
“สุดท้ายแล้ว อยากให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในงานวิจัยเพื่อการแพทย์ ผู้ที่มีโอกาสเป็นอาสาสมัคร ขอให้มีความเต็มใจ และภาคภูมิใจว่า ได้มีส่วนทำให้เกิดความรู้และการพัฒนาทางการแพทย์ และนอกจากการเข้าร่วมวิจัยจะให้ผลดีการรักษาหรือป้องกันโรคแก่ตัวท่านเองแล้ว ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยที่ท่านเข้าร่วม อาจจะช่วยชีวิตผู้อื่นๆต่อไปได้ การสนับสนุนจากทุกคน ไม่ว่าจะด้วยการเป็นอาสาสมัคร หรือการช่วยแพร่ความรู้ รวมทั้งการสนับสนุนด้านเงินบริจาค ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวทิ้งท้าย
สามารถร่วมสมทบทุนเพื่อต่อยอดงานวิจัย ต้านภัยโควิด โดยศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช ได้ที่ “กองทุนวิจัยเพื่อผู้ป่วย”สำหรับสนับสนุนงานวิจัยเพื่อลดการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 ศิริราช ธนาคารกรุงเทพ สาขารพ.ศิริราช ปิยะมหาราชการุณย์ 901-7-06257-2 ชื่อบัญชี ศิริราชมูลนิธิ ทุนวิจัยเพื่อผู้ป่วย D004015 สอบถามรายละเอียด โทร. 02-419-7658-60 ต่อ 101-104 หรือ [email protected]
เกี่ยวกับศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช
ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่การวิจัยที่ต้องทำในคน และเชื่อมโยงให้เกิดนวัตกรรมและต่อยอดจากผลงานวิจัย ช่วยให้นักวิจัยได้ทำการค้นคว้าหาคำตอบที่นำไปสู่การดูแล รักษา และป้องกันผู้ป่วยจากโรคต่างๆได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าทดสอบเรื่องยา วิธีการรักษา หรือเครื่องมือใหม่ๆที่จะนำมาใช้กับผู้ป่วย SICRES เป็นหน่วยงานที่มีอิสระในการบริหารจัดการ คิดค้นงานวิจัยได้หลากหลาย ไม่ติดกรอบ แต่ขณะเดียวกันก็มีบุคลากรที่เปี่ยมประสิทธิภาพของศิริราช และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยให้บริการเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยทางคลินิกให้แก่บุคลากรทั้งหน่วยงานทั้งภายในคณะแพทยศาสตร์ศิริราช พยาบาล หน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน
ชมคลิปกองทุนวิจัยเพื่อผู้ป่วย เพื่อลดการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 รพ.ศิริราช https://youtu.be/E5SBXl7Euk8