มกอช. เดินสายติวเข้มเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด เฟส 2 ยกระดับฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด สู่มาตรฐาน GAP ต่อยอดธุรกิจส่งออก ป้อนตลาดในประเทศ เสริมรายได้เกษตรกรหลังทำนาหรือช่วงฤดูแล้ง
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations; FAO) ได้ส่งเสริมให้คนหันมาบริโภคจิ้งหรีด ซึ่งเป็นแมลงที่บริโภคได้ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ที่มีราคาถูกและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ปัจจุบันมีการค้าขายจิ้งหรีดในรูปแบบสด แช่แข็ง รวมถึงทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทอด คั่ว หรือบรรจุกระป๋อง รวมทั้งทำเป็นผงบด เพื่อแปรรูปเป็นแป้งที่นำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ โดยมีการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
ทั้งนี้ รัฐบาลได้เล็งเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและมีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงแมลงในเชิงพาณิชย์ จึงได้มีการส่งเสริมเกษตรกรไทยเลี้ยงจิ้งหรีด โดยเป็นการดำเนินงานในลักษณะรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย เพื่อวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในพื้นที่แปลงใหญ่ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานได้ในต้นทุนที่ต่ำลง มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และมีเสถียรภาพด้านรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง ซึ่งมีกำลังการผลิตจิ้งหรีดรวมมากกว่า 7,000 ตันต่อปี ป้อนตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ สร้างมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงหลังการทำนาหรือในช่วงฤดูแล้ง
ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยของผลิตผลจากจิ้งหรีด โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรองตามมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด
ในปี 2562 มกอช. ในฐานะหน่วยงานด้านการมาตรฐาน ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ระยะที่ 1 โดยจัดอบรมเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด คู่มือการตรวจประเมิน ขั้นตอนการยื่นขอการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานประจำฟาร์ม และการจดบันทึกข้อมูลในแบบฟอร์มในการบันทึกข้อมูลผลการปฏิบัติงานในขั้นตอนที่สำคัญในการจัดการฟาร์ม เพื่อให้มีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดจากกรมปศุสัตว์ได้ กลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย คือ เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดที่ขึ้นทะเบียน กับกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2560-2561 จำนวน 332 คน ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว พิจิตร นครพนม มหาสารคาม ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ซึ่งหลังจากการอบรมมีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการอบรม และได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรจากกรมปศุสัตว์ จำนวน 21 ราย แบ่งเป็น เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 20 ราย และเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 1 ราย
สำหรับปี 2563 มกอช. ได้ดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ระยะที่ 2 ในการส่งเสริมความรู้ทางเทคนิคให้แก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดกลุ่มอื่นๆ โดยกำหนดจัดการอบรมเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2562-2563 ระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2563 จำนวน 8 กลุ่ม 276 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สุโขทัย พิษณุโลก บุรีรัมย์ และขอนแก่น
“อย่างไรก็ดี หลังเสร็จสิ้นการจัดอบรม มกอช. จะดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด กลุ่มเป้าหมายร่วมกับเกษตรอำเภอในแต่ละพื้นที่ และติดตามเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในการนำข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีดไปปฏิบัติใช้ต่อไป”เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit