งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกรไทย กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น โดยพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (พิธีไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง
นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมางานแรกนาขวัญมีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์เท่านั้น จนกระทั่งถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงได้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงมีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”
การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 แล้วว่างเว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชพิธีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของเกษตรกรไทย สำหรับในปี 2563 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้จัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนัง คัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เนื่องจากประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่งมีมาตรการและข้อปฏิบัติทางสาธารณสุขหลายประการเพื่อป้องกันการ แพร่กระจายของโรค ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยงดการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ จากเดิมที่สำนักพระราชวังได้กำหนดให้ประกอบพระราชพิธีในวันอาทิตย์ ที่ 10 และวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2563 โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกอบพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานและพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2563 โดยนำพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทานในฤดูทำนาปี 2562 และพันธุ์พืชต่าง ๆ มาเข้าประกอบพิธี พร้อมทั้งพิธีหว่านข้าวในแปลงนาทดลอง สวนจิตรลดา ในวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2563 เพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรทุกสาขาทั่วประเทศ
ในแต่ละปีได้มีการกำหนดว่า ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใน ปี 2563 นี้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา ส่วนผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีทั้งหาบทองและหาบเงิน จะทำการคัดเลือกจากบรรดาข้าราชการหญิงโสด ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกเทพีในแต่ละปีจะดูที่ความเหมาะสมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่เป็นทางการ คือ โสดและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว ที่ไม่เป็นทางการ คือ อายุพอสมควร สุขภาพดี ส่วนสูงพอเหมาะหรือสูงใกล้เคียงกัน สำหรับในปีนี้ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวณัฐชยา ศรีสุขสวัสดิ์ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และนางสาวอาทิตยา ทองแกมแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวกันยารัตน์ เศวตนันทิกุล นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ สำหรับพระโคที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีฯ นั้น กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการคัดเลือกพระโคตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวของลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกันผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่าย ไม่ดุร้าย เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงาม มีขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวาและขวัญหลังถูกต้องตามลักษณะที่ดี กีบและข้อเท้าแข็งแรง ถ้ามองดูด้านข้างของลำตัวจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม งานพระราชพิธี ฯ ทุกปีจะเตรียมพระโคไว้ 2 คู่
ส่วนพันธุ์ข้าวที่ใช้ในงานพระราชพิธี ฯ ซึ่งผู้คนในสนามหลวงทุกเพศทุกวัยจะกรูกันเข้าไปยังลานแรกนา เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับไปเป็นสิริมงคลนั้น นับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้มาจากแปลงนาในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ที่ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้กรมการข้าวจัดทำขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นพันธุ์ข้าว ทรงปลูกพระราชทานสำหรับไว้ใช้ในงานพระราชพิธี ฯ โดยเฉพาะ ซึ่งในปี 2563 นี้ เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธี มีทั้งหมด 5 พันธุ์ น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 1,458 กิโลกรัม ประกอบด้วย ขาวดอกมะลิ105 ปทุมธานี1 กข79 กข43 และ กข6 ส่วนหนึ่งใช้หว่านในระหว่างพิธี และจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุใส่ซองขนาดเล็กเพื่อจัดส่งให้จังหวัดต่าง ๆ สำหรับใช้แจกจ่ายแก่เกษตรกรรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพตามพระราชประสงค์ และเมล็ดพันธุ์ที่เหลือทั้งหมด กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปปลูกไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลปี 2563 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป
ทั้งนี้ ตามขนบธรรมเนียมประเพณี จะมีการการเสี่ยงทายในพระราชพิธีฯ แต่ละปีนั้นประกอบด้วย 2 ช่วง คือ ช่วงแรกพระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐานหยิบนุ่งทับผ้านุ่งเดิมนั้นเป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้ พระยาแรกนาหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ ถ้าหยิบได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าหยิบได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดีแต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ ส่วนช่วงที่ 2 คือ ภายหลังจากการไถหว่านซึ่งจะเป็นการไถดะไปโดยรี 3 รอบ เพื่อพลิกดินให้เป็นก้อน ไถโดยขวาง 3 รอบ เพื่อย่อยดินให้ละเอียดพร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์พืช และไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์พืชลงในดิน
เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการไถแล้วจะเป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำและหญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ ดังนี้ ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี และถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้เป็น “วันเกษตรกร” นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา โดยในปี 2563 เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นประเภทต่าง ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกได้รับรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณพร้อมทั้งเผย แพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติ มีดังนี้
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 16 ราย
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 13 สถาบัน
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์
นอกจากนี้ได้มีการคัดเลือกปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2563 จำนวน 3 สาขา ได้แก่