เลขาธิการ คปภ. เรียกประชุมภาคธุรกิจประกันวินาศภัยเข้ม ได้ข้อสรุปเพิ่ม 4 มาตรการ “คืน – ลด – เบี้ยประกันภัย และขยายระยะเวลาการคุ้มครอง”

05 May 2020

เลขาธิการ คปภ. เรียกประชุมภาคธุรกิจประกันวินาศภัยเข้ม ได้ข้อสรุปเพิ่ม 4 มาตรการ   “คืน – ลด – เบี้ยประกันภัย และขยายระยะเวลาการคุ้มครอง”

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.)  เปิดเผยว่า ตามที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และรัฐบาลได้ออกมาตรการห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคฯ สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและ ดร.อุตตม สาวนายนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ที่มีความห่วงใยประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชนและลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ประชาชนมีการใช้รถน้อยลง ส่งผลให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี  แม้ประชาชนจะมีการใช้รถน้อยลง หรือมีการหยุดใช้รถ ความเสี่ยงภัยก็ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงได้ออกมาตรการด้านการประกันภัย โดยที่ประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยังได้รับความคุ้มครองตามความเสี่ยงภัยที่มีอยู่ ดังนี้

  1. มาตรการผ่อนผันในการเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันภัยรถยนต์ โดยบริษัทประกันภัยสามารถผ่อนผันให้ผู้เอาประกันภัยผ่อนชำระเบี้ยประกันภัยได้ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่สัญญาประกันภัยมีผลบังคับ หรือวันที่สัญญาประกันภัยเริ่มต้นมีผลคุ้มครอง ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
  2. มาตรการผ่อนผันเงื่อนไขและอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ โดยอนุญาตให้บริษัทประกันภัยคิดอัตราเบี้ยประกันภัยเป็นแบบรายวัน รายเดือน หรือรายไตรมาส และใช้อัตราเบี้ยประกันภัยระยะสั้น รวมทั้งกำหนดทางเลือกให้บริษัทประกันภัยคิดเบี้ยประกันภัยแบบเฉลี่ยรายวันได้ ซึ่งจะเป็นการแบ่งเบาภาระและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้เอาประกันภัยที่จะสามารถทำกรมธรรม์ประกันภัยให้สอดคล้องกับการใช้รถ โดยผู้เอาประกันภัยอาจตกลงกับบริษัทประกันภัยจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระยะสั้น ปรับเปลี่ยนกรมธรรม์ประกันภัยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงภัย และเลือกชำระเบี้ยประกันภัยตามความสามารถ รวมถึงเลือกความคุ้มครองตามระยะเวลาที่ต้องการ
  3. ผู้เอาประกันภัย อาจตกลงกับบริษัทประกันภัย จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระยะยาว โดยมีระยะเวลาเอาประกันภัยเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี  และใช้เบี้ยประกันภัยพื้นฐานเดียวกันตลอดระยะเวลาคุ้มครอง โดยปีที่ 2 และ ปีที่ 3 ใช้เบี้ยพื้นฐาน 95% และ 85% ของปีที่ 1 ตามลำดับ ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ของผู้เอาประกันภัยที่ต้องการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระยะยาวได้ และรับรู้ค่าเบี้ยประกันภัยล่วงหน้า ทำให้ผู้เอาประกันภัยสามารถวางแผนในการชำระค่าเบี้ยประกันภัยได้
  4. ผู้เอาประกันภัยอาจตกลงกับบริษัทประกันภัยจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ที่มีระยะเวลาเอาประกันภัยเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี โดยให้ใช้อัตราเบี้ยประกันภัยแบบเฉลี่ย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยไม่เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาเอาประกัน
    ทั้งนี้  ตามข้อ 2-4 มีผลบังคับใช้สำหรับการทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2563 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
  5. ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการขนส่งสามารถแจ้งหยุดการใช้รถ กรณีรถยนต์ที่เอาประกันภัยไม่ได้มีการใช้เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจยังมีผลบังคับ โดยสามารถขอคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยในช่วงระยะเวลาที่หยุดใช้รถยนต์ หรือสามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืนมาขยายระยะเวลา เอาประกันภัยได้
  6. สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการขนส่ง อาจได้รับส่วนลดอัตราเบี้ยประกันภัยได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของจำนวนเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจทุกประเภท ที่ทำสัญญากับบริษัทประกันภัยตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
  7. ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการขนส่ง สามารถแบ่งชำระเบี้ยประกันภัยรถยนต์เป็นรายงวดได้ สำหรับผู้ประกอบการฯ ที่มีการทำสัญญาหรือมีการชำระเบี้ยประกันภัยตามสัญญา ตั้งแต่วันที่มีผลบังคับวันที่ 20 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563

นอกจากนี้ ตามที่มีข้อแนะนำจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับมาตรการด้านการประกันภัย และขอให้บริษัทประกันภัยเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบและดูแลเยียวยาประชาชน รวมถึงมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หยุดประกอบกิจการ สำนักงาน คปภ. จึงขอแสดงความขอบคุณ และเห็นว่าเป็นข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จึงได้เชิญผู้บริหารของสมาคมประกันวินาศภัยไทย เข้าร่วมหารือกับผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในหลักการว่าควรจะออกมาตรการเยียวยาด้านประกันภัยเพิ่มเติม โดยได้ข้อสรุปเกี่ยวกับ 4 มาตรการเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่หยุดประกอบกิจการ ดังนี้

มาตรการด้านการประกันภัยประเภท Non-Motor บริษัทประกันวินาศภัย สามารถกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยเลือกลด หรือระงับความคุ้มครองจากการเสี่ยงภัยของกรมธรรม์ประกันภัยบางส่วน ตามการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงภัย ตามที่ธุรกิจหยุดประกอบกิจการ โดยบริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยจากส่วนความคุ้มครองที่ลดลง ทั้งนี้รายละเอียดเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัท

มาตรการด้านการประกันภัยประเภท Motor (การประกันภัยรถยนต์) บริษัทประกันวินาศภัยสามารถพิจารณาชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ดังนี้

  1. บริษัทประกันวินาศภัยสามารถพิจารณาลดเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่จะต่ออายุในปีถัดไปได้ไม่เกิน 40%  และ/หรือ
  2. บริษัทประกันวินาศภัยสามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการคุ้มครองเพื่อชดเชยช่วงเวลาที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว เนื่องจากเป็นช่วงที่ไม่มีการใช้รถ  และ/หรือ
  3. ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือก/ลดความคุ้มครองจากการใช้รถทั้งหมดหรือบางส่วนตามการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงภัย โดยบริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยจากส่วนความคุ้มครองที่ลดลง โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัท

 “ขั้นตอนจากนี้ไปสำนักงาน คปภ. จะเร่งออกคำสั่งนายทะเบียนเพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถปฏิบัติตามมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมข้างต้นโดยเร็ว ทั้งนี้จะกำกับดูแลเพื่อให้การปฏิบัติตามมาตรการเยียวยาต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ตลอดจนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างแท้จริง” เลขาธิการ คปภ.  กล่าวในตอนท้าย

เลขาธิการ คปภ. เรียกประชุมภาคธุรกิจประกันวินาศภัยเข้ม ได้ข้อสรุปเพิ่ม 4 มาตรการ   “คืน – ลด – เบี้ยประกันภัย และขยายระยะเวลาการคุ้มครอง” เลขาธิการ คปภ. เรียกประชุมภาคธุรกิจประกันวินาศภัยเข้ม ได้ข้อสรุปเพิ่ม 4 มาตรการ   “คืน – ลด – เบี้ยประกันภัย และขยายระยะเวลาการคุ้มครอง”