นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากการดำเนินโครงการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ “เปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นผู้ค้าออนไลน์มืออาชีพ” โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับบริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด ได้จัดการฝึกอบรมแก่เกษตรกร ทั้งกลุ่มแปลงใหญ่ กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ Young Smart Farmer เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อแผนงานโครงการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ฯ จึงได้หารือเบื้องต้นกับผู้แทนจากบริษัทลาซาด้า เพื่อปรับวิธีการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เบื้องต้นได้เสนอวิธีวิธีอบรมผ่านระบบ VDO conference “MOAC Live Streaming course” ซึ่งมีรูปแบบการอบรมสื่อสารโต้ตอบกันระหว่างผู้สอนและผู้เข้ารับการอบรมแบบ real time และสามารถเก็บบันทึกการอบรมเพื่อดูย้อนหลังได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนเตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร โดยจะนำเสนอต่อผู้บริหารเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยขอบเขตความร่วมมือดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้สนับสนุนเกษตรกรที่มีความพร้อมเพื่อเข้าร่วมโครงการกับช้อปปี้ ส่วนทางช้อปปี้จะร่วมส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร พัฒนาทักษะอีคอมเมิร์ซให้แก่เจ้าหน้าที่และเครือข่ายของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อใช้พัฒนาความรู้ให้แก่เกษตรกร รวมถึงจะเผยแพร่โครงการด้านการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงเกษตรฯ ผ่านสื่อต่าง ๆ ของช้อปปี้ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายให้แก่เกษตรกรในโครงการอีกด้วย
ทั้งนี้ ยังได้มีการสรุปภาพรวมกิจกรรมเปิดตัวโครงการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ฯ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยมีผู้เข้าร่วมเปิดตัวโครงการกว่า 300 คน และมีกลุ่มเกษตรกรกว่า 40 กลุ่ม ให้ความร่วมมือนำสินค้ามาจัดแสดงกว่า 55 รายการ และจากการติดตามผลการดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตร ตลาดนำการเกษตร ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ โดยมีวิทยากรจากลาซาด้าเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ได้รับการตอบรับอย่างดี โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมกว่า 200 คน มีร้านค้าของเกษตรกรขึ้นจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้า 113 ร้านค้า และยังมีการจัดตั้งกลุ่มไลน์ “ติดตามอบรมกับลาซาด้า” เพื่อเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารและแก้ไขปัญหาในขั้นตอนการสมัคร และการนำของขึ้นจำหน่ายบนแพลตฟอร์มระหว่างเกษตรกรและเจ้าหน้าที่จากลาซาด้า
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มช่องทางการตลาดให้เกษตรกรกระจายผลผลิตทางการเกษตรผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ให้สามารถจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และพร้อมส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศได้” นายนราพัฒน์ กล่าว
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit