"คุณหญิงกัลยา” ตั้งคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชนตามแนวพระราชดำริแก้ปัญหาภัยแล้ง แก้จน อย่างยั่งยืน

21 May 2020

กระทรวงศึกษาธิการ-คุณหญิงกัลยา ตั้งคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชนตามแนวพระราชดำริ ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชน แก้ปัญหาภัยแล้ง แก้หนี้สิน แก้จน ให้ประชาชนเป็นเจ้าของ ใช้อาชีวะเกษตรนำร่อง สร้างชลกรสอนจัดการน้ำ ยึดตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เชื่อเศรษฐกิจพอเพียงคือ New Normal ที่แท้จริง

"คุณหญิงกัลยา” ตั้งคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชนตามแนวพระราชดำริแก้ปัญหาภัยแล้ง แก้จน อย่างยั่งยืน

นางดรุณวรรณ  ชาญพิพัฒนชัย โฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานโครงการจัดการน้ำเพื่อชุมชนโดยคุณหญิงกัลยาตามแนวพระราชดำริ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชน สืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้มีน้ำใช้ ช่วยแก้ปัญหาความยากจน

ที่มาของโครงการดังกล่าวเกิดจากการที่พบว่าในปีนี้ ถือว่าเป็นปีที่ประสบภัยแล้งมากที่สุดในรอบ 40 ปี สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมาก ส่งผลกระทบต่อทั้งการเกษตรและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง หากไม่เร่งแก้ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำของชุมชนอย่างเป็นระบบ ก็จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหามาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคอีสานซึ่งมีที่ดินนอกเขตชลประทานถึง 80% ที่ต้องได้รับการบริหารจัดการให้สามารถกักเก็บน้ำฝนที่อยู่นอกเขตชลประทานได้ ปัจจุบันในพื้นที่อีสานสามารถกักน้ำฝนไว้ใช้ได้เพียง 3.5% จากปริมาณน้ำฝนโดยรวมซึ่งถือว่าน้อยมาก จึงต้องเร่งแก้ไขและดำเนินการให้ทันก่อนฝนจะหมดในปีนี้ หลักคิดในการทำโครงการคือชุมชนต้องมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ โดยรัฐทำหน้าที่สนับสนุนให้องค์ความรู้ และกระทรวงศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของคุณหญิงกัลยา จะใช้กลไกของวิทยาลัยเกษตรทั้ง 47 แห่ง และโรงเรียนการศึกษาพิเศษอีก 176 แห่งทั่วประเทศเป็นศูนย์เรียนรู้ที่สำคัญ และจะมีการหลักสูตรสร้างชลกร คือผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เพื่อช่วยสอนชาวบ้านให้มีความรู้เรื่องการจัดการน้ำในชุมชน ให้สามารถดำเนินการต่อเองได้

โดยคุณหญิงกัลยา เชื่อว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือ New Normal ที่แท้จริง หากเกษตรกรมีน้ำใช้ทำกิน ไม่ยากจน ลูกหลานก็จะคืนถิ่น ไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน โดยมีโมเดลของการจัดการน้ำในชุมชนที่ประสบความสำเร็จแล้วคือที่ชุมชนบ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซากมากว่า 40 ปี พื้นที่การเกษตรกว่า 3,700 ไร่ ไม่มีแหล่งน้ำ คลองส่งน้ำ ยามน้ำหลากก็ท่วมถนนในหมู่บ้าน ยามแล้งไม่มีน้ำใช้สอย ส่งผลชาวบ้านเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เมื่อได้มีการจัดการน้ำในชุมชนโดยการจัดทำทุ่งรับน้ำพร้อมกับขุดแก้มลิงในพื้นที่สาธารณประโยชน์ และชักชวนให้ชาวบ้านขุดสระเก็บกักน้ำในที่ดินส่วนตัว เพื่อผันน้ำที่เก็บกักไว้จากแก้มลิงมาใช้ยามต้องการ ทำให้เกษตรกรมีอาชีพมีน้ำใช้ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 300% หัวใจที่สำคัญคือคนในชุมชนต้อง”เข้าใจ” และ “อยากทำ”

จากการที่คุณหญิงกัลยาได้ให้ความสำคัญกับการทำงานของคณะทำงานชุดนี้เป็นอย่างมาก จึงได้ให้เกียรติมาเป็นประธานคณะทำงานโครงการจัดการน้ำเพื่อชุมชนโดยคุณหญิงกัลยาตามแนวพระราชดำริด้วยตนเอง โดยมี ดร.ศุภชัย ศรีหล้า และนายภูมิสรรค์ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เป็นรองประธาน พร้อมด้วยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องอีกหลายท่านมาร่วมเป็นคณะทำงาน อาทิ นายเจริญ คัมภีรภาพ ดร.ธนนท ธัญพงษ์ไพบูลย์ พลตรีธนศักดิ์ มิตรภานนท์ รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ และนายโกวิทย์  ดอกไม้ เป็นต้น

"ดิฉันปลูกป่ามากว่า 20 ล้านต้น ตลอดระยะเวลา 35 ปี ดิน น้ำ ป่า คือชีวิตจิตใจ มีโอกาสถวายงานรับใช้ในหลวงรัชกาลที่ 9 มา 45 ปี เกินครึ่งของชีวิต ได้ซึมซับพระราชปณิธาน และระลึกมาโดยตลอดว่าเราต้องทำเรื่องน้ำเพื่อชุมชนให้สำเร็จ เพราะน้ำคือชีวิต หากเกษตรกรมีน้ำใช้ ก็จะไม่ยากจน เมื่อมีน้ำใช้อย่างอื่นก็จะตามมา และจะนำแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านมาปรับใช้ด้วยหลักสามประการคือ มีที่ให้น้ำอยู่ มีที่ให้น้ำไหล เก็บน้ำไว้ใต้ดิน และจะต้องประหยัด ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญสูงสุดในการทำโครงการนี้คือแก้ความยากจน "  คุณหญิงกัลยา กล่าว    

ทั้งนี้ คณะทำงานที่รับผิดชอบบางส่วน จะเริ่มลงสำรวจพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป โดยจะนำร่องในสามจังหวัดคือ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น และขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ  ต่อไป

"คุณหญิงกัลยา” ตั้งคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชนตามแนวพระราชดำริแก้ปัญหาภัยแล้ง แก้จน อย่างยั่งยืน "คุณหญิงกัลยา” ตั้งคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชนตามแนวพระราชดำริแก้ปัญหาภัยแล้ง แก้จน อย่างยั่งยืน