ครั้งแรกของภาคใต้ ม.ทักษิณ ปลูกและปลุกจิตสำนึกต่อต้านการทุจริต บุคลากรกว่า 500 คน ร่วมอบรมผ่านระบบออนไลน์

21 May 2020

ฝ่ายตรวจสอบภายใน และฝ่ายบริหารกลางและทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกันจัดโครงการปลูกและปลุกจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตในมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อมุ่งสร้างจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตแก่บุคลากรมหาวิทยาลัยทักษิณ
รองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย  ชำนิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานเปิด”
โครงการปลูกและปลุกจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตในมหาวิทยาลัยทักษิณ”

ครั้งแรกของภาคใต้ ม.ทักษิณ ปลูกและปลุกจิตสำนึกต่อต้านการทุจริต บุคลากรกว่า 500 คน ร่วมอบรมผ่านระบบออนไลน์

เมื่อวันอังคารที่ 19 พฤษภาคม 2563  ที่ผ่านมา  พร้อมทั้งกล่าวว่า “โครงการปลูกและปลุกจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตในมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้บริหาร และบุคลากรทุกคนควรมีส่วนร่วมในการปรับปรุงพัฒนาการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการสื่อสาร การสร้างความเข้าใจ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับบุคลากรภายในและภายนอกอย่างทั่วถึงในประเด็นที่สำคัญๆ  และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความตระหนักให้ผู้บริหารและบุคลากรทุกคนในมหาวิทยาลัย ร่วมกันเสริมสร้างค่านิยม สุจริตและการต่อต้านการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งการปฏิบัติงานในหน้าที่โดยใช้ธรรมาภิบาลในการบริหารงาน มีความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม ร่วมกันป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว และก่อให้เกิดผลเสียต่อผลประโยชน์ส่วนรวม  

อาจารย์สายพิณ  วิไลรัตน์  รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “โครงการปลูกและปลุกจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตของมหาวิทยาลัยทักษิณ” จัดขึ้นโดยการประสานความร่วมมือระหว่างฝ่ายตรวจสอบภายใน และฝ่ายบริหารกลางและทรัพยากรบุคคล ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดโครงการ

ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้พัฒนาเครื่องมือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) เพื่อใช้เป็นมาตรการป้องกันการทุจริต และเป็นกลไกในการสร้างความตระหนักให้หน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและมีคุณธรรม ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวได้ถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2561 – 2565  โดยกำหนด ค่าเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ 85 คะแนนขึ้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80  สำหรับมหาวิทยาลัยทักษิณได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และได้นำการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐมาใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน และยกระดับการบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยเป็นไปตามจรรยาบรรณการบริหารงานอย่างมีจริยธรรม รวมทั้งปลุกและปลูกจิตสำนึกต่อต้านการทุจริต  มหาวิทยาลัยได้นำผลการประเมิน ITA ไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดในแผนกลยุทธ์ และกำหนดให้ทุกส่วนงานและหน่วยงานลงนามคำรับรองในการปฏิบัติงานประจำปีกับท่านอธิการบดีอย่างต่อเนื่อง ปีนี้เป็นปีที่ 2 และมีผลการประเมินที่ดีขึ้นเป็นลำดับ กล่าวคือ

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ผลการประเมินอยู่ที่ 83.57 (ระดับสูงมาก) และปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ผลการประเมินอยู่ที่ 87.28 ระดับดี ผ่านเกณฑ์เป้าหมายที่ ป.ป.ช. กำหนดไว้ที่ 85 คะแนน เมื่อวิเคราะห์ผลการประเมิน พบว่า มหาวิทยาลัย/ส่วนงาน/หน่วยงานยังมีปัญหาในการสร้างความเข้าใจหรือการสื่อสาร ส่งผลให้การรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในและภายนอกที่มีต่อการปฏิบัติงานของส่วนงาน/หน่วยงาน ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายในประเด็นที่สำคัญ เช่น การรับรู้ของบุคลากรเกี่ยวกับแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี  การเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการ ผู้มาติดต่อหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกเข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงาน/การให้บริการให้ดีขึ้น ขั้นตอนการยืมทรัพย์สินของราชการไปใช้ปฏิบัติงานในหน่วยงาน  การเผยแพร่ข้อมูลของหน่วยงานที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกติดต่อ  การให้บริการผู้ที่มาติดต่ออย่างเท่าเทียมกันและการปรับปรุงคุณภาพการปฏิบัติงาน/การให้บริการที่ดีขึ้น เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดทำแนวทางการปรับปรุง/พัฒนาให้ทุกส่วนงาน/หน่วยงานร่วมดำเนินการไปแล้ว
สำหรับการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สำนักงาน ป.ป.ช. ยังคงใช้
กรอบแนวทางการประเมินเช่นเดียวกับการประเมิน ITA ปีที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานของรัฐได้มีการปรับปรุงพัฒนาอย่างเชื่อมโยงและต่อเนื่อง โดยมีการปรับปรุงในระเบียบวิธีการประเมินและประเด็นการประเมินเพียงเล็กน้อย เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เน้นการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมินมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการรับรู้และการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายไม่ซับซ้อน  การจัดโครงการปลูกและปลุกจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตในมหาวิทยาลัยทักษิณในวันนี้

เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล  โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1)  เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรและธรรมาภิบาลในการบริหารงานให้ผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัยทักษิณมีทัศนคติ ค่านิยมในการปฏิบัติงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตอย่างชัดเจน 2) เพื่อปลุกจิตสำนึก ปลูกฝังค่านิยมสุจริตและการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนให้กับผู้บริหารและบุคลากรตระหนักถึงการปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความสุจริต ยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม และ 3) เพื่อตอบสนองเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ความท้าทายที่ 4 การบริหารจัดการเพื่อการดำเนินงานที่เป็นเลิศ ตัวชี้วัด TSU05 ระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยทักษิณ พ.ศ. 2561 – 2565  โดยผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย รองอธิการบดี  ผู้ช่วยอธิการบดี  คณบดี/รองคณบดี  ผู้อำนวยการ /รองผู้อำนวยการวิทยาลัย /สถาบัน /สำนัก /หัวหน้าฝ่าย /หัวหน้างาน /ประธานสาขา บุคลากร ลงทะเบียนเข้ารับการอบรมออนไลน์จำนวน 502 คน ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณมีชัย  โอ้น  เจ้าพนักงานตรวจสอบทรัพย์สินชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นวิทยากรบรรยาย ผ่านระบบออนไลน์ Cisco webex  หัวข้อ “เรื่อง ธรรมาภิบาลในการบริหารงาน  เรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อน ภัยร้ายทำลายองค์กรและการตรวจสอบทรัพย์สิน และ “วินัยและความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินและการบริหารงบประมาณ”  นับเป็นการอบรมออนไลน์ครั้งแรกที่มีจำนวนผู้เข้ารับการอบรมจำนวนมากกว่า 500 คน