จากงานวิจัยในหลายประเทศพบว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย หรือ NCDs ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง ฯลฯ ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อมีการติดเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ทั่วโลกต้องเผชิญในปัจจุบัน เมื่อได้มีการศึกษาย้อนหลังพบว่าเกิดจากการสะสมระดับความเครียดที่ผิดปกติตั้งแต่ในวัยเด็ก (Toxic Stress) ไปจนถึงการมีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก (Childhood Trauma) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในวัยผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ภาวะผันผวนของเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ในโลกยุคดิสรัปชั่น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสถานะครอบครัว โดยพบว่าเด็กในช่วง 6 ปีแรกที่เติบโตมาในภาวการณ์ที่ไม่เหมาะสม ได้รับประสบการณ์ที่เลวร้าย หรือ Adverse Childhood Experiences อาทิ พ่อแม่ตีกัน ติดคุก ติดยา แตกแยก เป็นโรคจิตหลุด หรือว่าพ่อแม่เลี้ยงดูไม่เหมาะสม ทำร้ายทางอารมณ์ ทอดทิ้งทางอารมณ์ ทำร้ายร่างกาย และทำร้ายทางเพศ รวมทั้งถูกกระตุ้นด้วยเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม จนก่อให้เกิดระดับความเครียดเป็นพิษ หรือ Toxic Stress เด็กที่ได้รับการกระทำเหล่านี้จะเติบโตมามีพัฒนาการที่ล่าช้า มีผลการเรียนแย่ มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนในวัยรุ่น จนกลายเป็นปัญหาการเกิดโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย หรือ NCDs ในวัยผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง ฯลฯ ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อมีการติดเชื้อไวรัส Covid-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบัน เป็นสาเหตุการตายก่อนวัยอันควร นำมาสู่ปัญหาสาธารณสุข และพัฒนาการทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่
วิธีการป้องกันในระดับทั่วไปไม่ให้เกิดบาดแผลทางใจ คือ การลดความเสี่ยง ตั้งแต่ก่อนจะตัดสินใจอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว การเตรียมพร้อมในการตั้งครรภ์ และการเป็นพ่อแม่ที่ดี เรียนรู้วิธีที่จะทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในระยะยาว เมื่อเกิดปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข แล้วไปสร้างครอบครัวใหม่ ลูกหลานที่เกิดจากครอบครัวใหม่นี้ก็จะได้รับการถ่ายทอดให้ได้รับผลกระทบในแบบเดียวกัน เป็นโลกผันผวนที่เกิดจากภาวการณ์บาดเจ็บทางใจของเด็ก นำมาสู่การประชุมวิชาการระดับชาติของ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “CHILDHOOD TRAUMA IN DISRUPTIVE WORLD : early intervention, the sooner the better” (ความเจ็บปวดของเด็กในโลกผันผวน: รู้จัก เข้าใจความเจ็บปวดของเด็กในโลกยุคผันผวน และเรียนรู้วิธีการเยียวยารักษาป้องกัน) โดยจัดเป็นครั้งแรกในรูปแบบออนไลน์ ตามมาตรการรักษาระยะห่าง หรือ Physical Distancing ในช่วงวิกฤต Covid-19 นี้ ผ่านแอพพลิเคชัน “ZOOM” ระหว่างวันที่ 25 - 27 พฤษภาคม 2563 เวลา 09.00 - 16.00 น.
โดยจะมีการปาฐกถา นิตยา คชภักดี ที่กำหนดจัดแสดงในประชุมวิชาการในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดย ได้รับเกียรติจากองค์ปาฐก 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะมาแสดงปาฐกถา ในหัวข้อ “ความเจ็บปวดของเด็กไทยในโลกผันผวน กับผลกระทบต่อสังคมไทย” และ รองศาสตราจารย์ ดร.นัยพินิจ คชภักดี ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะมาแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ประสาทวิทยาศาสตร์ของเด็กที่ได้รับประสบการณ์เลวร้ายในชีวิต” ร่วมด้วย วิทยากร และคณาจารย์จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว นำทีมโดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ
ผู้สนใจดูรายละเอียดได้ที่ Facebook: สถาบันเด็กมหิดล บริการวิชาการสู่สังคม E-mail: [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit