นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ผลงาน “แผ่นห่อไบโอ” จากเปลือกกล้วย วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold) และ certificate from AsianInvent Singapore (AiSG) 2020 จากเวทีการประกวด AsianInvent TM Singapore (AiSG) 2020 ณ Lifelong Learning Institute ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 2-5 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวทีการประกวดนานาชาติ ที่รวบรวมผลงานจากความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมจากทั่วทุกมุมโลกสู่สิงคโปร์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งมีผู้แทนจากต่างประเทศกว่า 500 คน จาก 16 ประเทศ และจากนักประดิษฐ์ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมและนำเสนอความคิด โดยในปีนี้มีผลงานเข้าร่วมทั้งสิ้น 105 ผลงาน โดย “แผ่นห่อไบโอ” ดังกล่าว ได้รับคัดเลือกจากสมาคมวิทยาศาสตร์ แห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวดผลงาน แต่ด้วยช่วงเวลาดังกล่าวเป็นสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2519 ผู้จัดงานได้จัดทำบูธ เพื่อจัดแสดงผลงานให้แต่ละประเทศ และวิทยาลัยเทคนิค มาบตาพุด ดำเนินการจัดส่งผลงานเข้าประกวดแบบออนไลน์ จัดส่งข้อมูล และโปสเตอร์เผยแพร่ ในบูธงาน และใช้วิธีสื่อสารนำเสนอกับคณะกรรมการ และผู้ชมงานแบบเรียลไทม์ โดยวิทยาลัยฯ ได้รับการเทรน ฝึกทักษะ การนำเสนอผลงาน จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ขอขอบคุณในการสนับสนุนให้ผลงานของนักศึกษาอาชีวศึกษาได้โชว์ความสามารถในระดับนานาชาติ
ด้านอาจารย์รักชนก โคตรพันธ์ ครูที่ปรึกษาผลงาน “แผ่นห่อไบโอ” พลาสติกจากเปลือกกล้วย (Bio Plastic Nursery Bag From Banana Peel)” กล่าวว่าผลงานดังกล่าวเป็นของกลุ่มนักศึกษาแผนกวิชาปิโตรเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ประกอบด้วย นายธนกฤต ดิษฐบรรจง นายวุฒิชัย สมยา และนายเอนก นารีจันทร์ เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษาปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมา โดยได้มีการพัฒนาวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางออกของการจัดการเชิงรุกในการลดปริมาณขยะพลาสติก ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ และป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งปัญหาปริมาณขยะจากพลาสติกที่เกิดจากถุงเพาะชำต้นกล้าจากภาคเกษตร เป็นอีกหนึ่งปัญหา “แผ่นห่อไบโอ” พลาสติกจากเปลือกกล้วย จึงเป็นทางเลือกเพื่อใช้ทดแทนพลาสติก โดยใช้เปลือกกล้วยเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการผลิต และปรับปรุงคุณสมบัติของเซลลูโลสในเปลือกกล้วย และนำเนื้อเยื่อ-เส้นใยจากต้นกล้วยหรือกาบกล้วยมาขึ้นรูปเป็นถุงเพาะชำ แล้วเคลือบด้วยเซลลูโลส ซึ่งแผ่น “ห่อไบโอ” สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และยังสามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อยอดและเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์อื่นๆ ได้อีก
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียด กระบวนการสกัดเซลลูโลส และขั้นตอนการทำ “แผ่นห่อไบโอ” พลาสติกจากเปลือกกล้วยได้ที่วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด โทร 0 382 6479 หรือ http://www.mtptc.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit