นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) มอบเงินทุนสำหรับใช้ปรับปรุงสถานที่ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก (Local Quarantine) อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ผ่านความร่วมมือเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) เพื่อขยายศักยภาพในการรองรับกลุ่มผู้เฝ้าสังเกตอาการ (Patient Under Investigation : PUI) เพิ่มจาก 35 รายต่อเดือน เป็นรองรับได้ถึง 136 รายต่อเดือน และร่วมกันรณรงค์ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เป็นเครื่องมือภัยโควิด-19 อย่างเป็นระบบ
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้ง "กลุ่มช่วยกัน" ทำการมอบงบประมาณสนับสนุนสำหรับใช้ในการปรับปรุงสถานที่ศูนย์ที่พักรองรับกลุ่มผู้เฝ้าสังเกตอาการ (Patient Under Investigation : PUI) เพื่อเพิ่มห้องพักนอกโรงพยาบาลสำหรับรองรับกลุ่ม PUI ให้ได้มีที่พักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและปลอดภัยเพิ่มขึ้น การมีห้องพักในศูนย์ที่พักฯอย่างเพียงพอจะเป็นการเสริมศักยภาพและช่วยลดภาระโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้เข้าข่ายเสี่ยงสูงที่ผ่านการพิจารณาจากแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่แล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีการรักษาแต่ต้องสังเกตอาการใกล้ชิดเนื่องจากเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงสูง โดยในพื้นที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ที่มีความต้องการความช่วยเหลือดังกล่าวอย่างมาก โดยเฉพาะถือเป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่ไม่สามารถกักตัวเองอยู่บ้าน ให้กักแยกตัวเองภายใต้การติดตามของแพทย์ได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้หลังจากปรับปรุงสถานที่ศูนย์ที่พักแล้วจะสามารถรองรับผู้เฝ้าสังเกตอาการได้ 136 รายต่อเดือนจากปัจจุบันที่สามารถรองรับได้ 35 รายต่อเดือน และหากผ่านพ้นสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไปแล้ว เครื่องมืออุปกรณ์ที่ยังสามารถใช้ได้ก็ยังคงสามารถนำไปบริจาคให้กับโรงเรียนและสถานดูแล พยาบาลสำหรับผู้ป่วยติดเตียงได้อีกต่อไป
นอกจากนี้ EA และกลุ่มช่วยกันยังได้เตรียมการที่จะส่งมอบอุปกรณ์กำจัดเชื้อไวรัสในอากาศเพื่อนำไป ติดตั้งในโรงพยาบาลต่างๆ ใน จ.ปัตตานี และร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนทุกภาคส่วนดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” มาใช้ โดย “หมอชนะ” ได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยในการเปิดเมือง ทำให้ผู้ใช้ได้ทราบความเสี่ยงของตนเองจากกิจกรรมและบุคคลที่ตนเองได้ใกล้ชิดในช่วงเวลา 14 วันที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดเด่นจากการนำ Bluetooth มาทำงานร่วมกับ GPS ทำให้สามารถติดตามได้ว่าผู้ใช้ได้เคยใกล้ชิดผู้ป่วยหรือได้เดินทางไปยังสถานที่ที่มีความเสี่ยง และใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในระยะรัศมี 5 เมตร จึงทำให้สามารถคัดแยกผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อในวงที่แคบลงได้ และควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กำลังจะเปิดเมืองและการคืนการใช้ชีวิตของคนในสังคม “หมอชนะ” จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการลดโอกาสการเกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ไว้บนโทรศัพท์มือถือและแสดง QR Code ในโทรศัพท์มือถือที่ใช้พกพาประจำตัวเปรียบเสมือน eHealth Passport หรือ COVID VISA ใช้แสดงหรือตรวจสอบก่อนเข้าไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ โดยยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัย
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามโครงการต่างๆ ของ “กลุ่มช่วยกัน” หรือเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.chuaygun.com และ facebook กลุ่มช่วยกัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit