สภาวิศวกร ชี้โควิด-19 กระทบวิศวกรไทยทำงานชะงัก เปิดสายด่วน 1303 เผยหลังสถานการณ์คลี่คลาย “วิศวกร” เป็นที่ต้องการสูง

25 May 2020

สภาวิศวกร ชี้โควิด-19 กระทบการทำงานวิศวกร “ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมชะงัก” แนะช่องทางขอรับคำปรึกษา “สายด่วนสภาฯ 1303” เผยหลังวิกฤตคลี่คลายวิศวกรเป็นที่ต้องการสูง ล่าสุด สภาวิศวกร นำทีมโดยนายกสภาวิศวกร และทีมวิศวกรอาสา ลงพื้นที่สำรวจโครงสร้างบ้านเรือน พร้อมมอบถุงยังชีพประชาชนมากกว่า 200 ชุด  ภายใต้กิจกรรม “สภาวิศวกรปันสุขให้ชุมชน” แบ่งปันน้ำใจ-สิ่งของ บรรเทาทุกข์พี่น้องในชุมชนรอบข้างของสภาวิศวกร เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ สภาวิศวกร ซอยรามคำแหง 39 กรุงเทพฯ

สภาวิศวกร ชี้โควิด-19 กระทบวิศวกรไทยทำงานชะงัก เปิดสายด่วน 1303 เผยหลังสถานการณ์คลี่คลาย “วิศวกร” เป็นที่ต้องการสูง

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) มิได้ส่งผลกระทบถึงบุคลากรทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุขเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบถึง “วิศวกร” บุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และทุกบริบทของกระบวนการการทำงาน ทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมบริการ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งครอบคลุมวิศวกรสาขาต่าง ๆ อาทิ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า ฯลฯ “ดังนั้น หากภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ หรือภาคการผลิตหยุดชะงัก วิศวกรออกแบบ วิศวกรควบคุม รวมถึงวิศวกรในส่วนงานอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ในลักษณะของการชะลอการทำงานในโปรเจคต่าง ๆ หรือกระทั่งกำหนดกรอบการทำงานใหม่”

สภาวิศวกร ในฐานะศูนย์กลางของวิชาชีพวิศวกรรม จึงพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้สนใจสามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วน 1303 อย่างไรก็ดี สภาวิศวกร มีความเชื่อมั่นว่า เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หรือมีสัญญาณเชิงบวก “วิศวกรยุคใหม่” ที่พร้อมด้วยศักยภาพด้านวิศวกรรม ทั้งศาสตร์และศิลป์ กล่าวคือ สามารถต่อยอดความรู้วิศวฯ สู่นวัตกรรมที่มีฟังก์ชันการทำงานตอบโจทย์สังคมและสะดวกต่อการใช้งาน ยังเป็นที่ต้องการในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจำนวนมาก

นอกจากนี้ สภาวิศวกร ยังตระหนักถึงการผนึกความร่วมมือภาคการศึกษา เอกชน สู่การพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีในแวดวงวิศวกรรม ขับเคลื่อนการทำงานวงการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ ได้เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสู้วิกฤตจำนวนมาก อาทิ ตู้ปลอดเชื้อความดันบวก ตู้ปลอดเชื้อความดันลบ หุ่นยนต์ขนส่งเวชภัณฑ์ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี และตู้ตรวจเชื้อโควิด-19 (Mobile Swab Test) แบบความดันบวก จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ต้นแบบตู้ความดันลบ จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ตู้เก็บสิ่งส่งตรวจความดันบวกและความดันลบ เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย สู้วิกฤต COVID-19 จำนวน 120 ตู้ มอบให้กับโรงพยาบาลจำนวน 100 แห่ง ทั่วประเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ฯลฯ        

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากผลกระทบด้านสุขภาพแล้ว โควิด-19 ยังส่งกระทบต่อบุคคลที่มีรายได้น้อยในชุมชนต่าง ๆ  โดยล่าสุด สภาวิศวกร และวิศวกรอาสา ปรับบทบาทจาก “วิศวกรผู้สร้าง” สู่ “วิศวกรผู้ให้” ภายใต้กิจกรรม “สภาวิศวกรปันสุขให้ชุมชน” การลงพื้นที่สำรวจความปลอดภัยเชิงโครงสร้างอาคารบ้านเรือนประชาชน พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่รามคำแหง 39 มากกว่า 200 ชุด เพื่อแบ่งปันน้ำใจ แบ่งปันสิ่งของ บรรเทาทุกข์ให้พี่น้องในชุมชนรอบข้างของสภาวิศวกร อย่างไรก็ดี กิจกรรมในลักษณะดังกล่าว ทางสภาวิศวกร ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อรับทราบถึงปัญหาหรือข้อจำกัดเชิงโครงสร้างในแง่มุมต่าง ๆ ตลอดจนสามารถเสนอแนวทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย          

ทั้งนี้ กิจกรรมสภาวิศวกรปันสุขให้ชุมชน จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ สภาวิศวกร ซอยรามคำแหง 39 กรุงเทพฯ ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของสภาวิศวกร (COE) ที่ www.facebook.com/coethailand และ www.coe.or.th ไลน์ไอดี @coethai หรือสายด่วน 1303

HTML::image( HTML::image( HTML::image(
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit