บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ภายใต้มูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทย ได้คัดเลือก 4 สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน ที่ได้รับการคัดเลือกสู่การสนับสนุนระยะขยายผล ประจำปี 2562 ประกอบด้วย สว่านเจาะดินนิวบอร์น จ.ลพบุรี, เครื่องตัดหญ้าโซลาร์เซลล์ จ.ลำปาง, เครื่องบดผสมปุ๋ยหมักและดินปลูก จ.ลำพูน, และเรือรดน้ำอัตโนมัติ จ.นครปฐม โดยเตรียมลงพื้นที่เพื่อมอบประกาศนียบัตรและรางวัลเงินสนับสนุนให้กับช่างชุมชนทั้ง 4 ผลงาน มูลค่ารวม 400,000 บาท ดร. สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ช.การช่าง ขอแสดงความยินดีกับเจ้าของนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ทั้ง 4 ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน” ที่ได้นำข้อเสนอแนะต่างๆไปปรับปรุงทั้งในเรื่องเทคนิคและวิศวกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนช่องทางการตลาด ซึ่งล้วนเกิดจากความคิดสร้างสรรค์และความสามารถของคนไทยในชุมชน ต่างๆทั่วประเทศที่มีทั้งศักยภาพ และมีโอกาสที่จะนำมาต่อยอดขยายขีดสามารถจากการใช้แก้ปัญหาของพื้นที่ในแต่ละท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้งานในบริบทที่กว้างขึ้น ช.การช่าง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน มุ่งมั่นพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ของตนเองต่อไปเพื่อให้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สูงสุด และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตดูแลชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนต่อไป”
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ผลงานทั้ง 4 ที่ได้รับคัดเลือกพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยในท้องถิ่นมีทักษะในด้านการประดิษฐ์คิดค้นด้านนวัตกรรมและกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่มีศักยภาพ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้ โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ในท้องถิ่น แต่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดกลายเป็นนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยในวงกว้าง”
โดยนวัตกรรมช่างชุมชนทั้ง 4 ผลงาน ได้ผ่านการคัดเลือกเพื่อรับทุนสนับสนุนเบื้องต้น พร้อมกับเข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมและพบที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาทักษะแบบ 4 มิติ ได้แก่ ทักษะด้านเทคนิควิศวกรรม, การออกแบบผลิตภัณฑ์, การตลาดและการบริหารจัดการต้นทุนราคา หลังจากผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างเข้มข้นเป็นเวลาสองวัน ช่างชุมชนแต่ละคนได้กลับไปพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมของตนเองจนเป็นที่ ประจักษ์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในด้านประสิทธิภาพการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ ความสะดวกในการใช้งานเพิ่มขึ้น ต้นทุนและราคาที่คนในชุมชนเข้าถึงได้ง่าย และการขยายผลผ่านการจัดจำหน่ายสู่ชุมชนในช่องทางต่างๆ หรือถ่ายทอดความรู้ในเชิงสาธารณะประโยชน์สู่สังคม สิ่งเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนวัตกรรมที่คิดค้นจากคนในชุมชนฐานรากแต่สามารถสร้างผลกระทบทางสังคมได้อย่างกว้างขวาง
สำหรับอีก 6 ผลงานที่ไม่ได้รับรางวัลประกอบด้วยตะบันน้ำถังแก๊สมือสอง, รถไถนั่งขับอีลุย, เครื่องอูดรมควันต้านยุง, จักรยานปีนต้นมะพร้าว, กาลักน้ำประปาภูเขา,และของเล่นไม้กลไกเคลื่อนไหว สามารถจัดทำข้อเสนอเพื่อขอทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตเชิง พาณิชย์ต่อไปได้โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีทุน 300,000 บาท เพื่อพัฒนาแนวคิดให้สมบูรณ์หรือหากพร้อมที่จะทำธุรกิจต่อยอดจะมีทุน 1,500,000 บาท โดยสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือติดต่อผ่านทางทีมงานของโครงการนวัตกรรมช่างชุมชน เพื่อช่วยให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit