รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ เร่งเพิ่มการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภทใน 4 จังหวัดอีสานตอนล่างอย่างถ้วนหน้า เผยโรคนี้กระทบตรงต่อความสามารถดำเนินชีวิตของผู้ป่วย หากไม่รักษาจะรุนแรงเทียบเท่าป่วยเป็นอัมพาตทั้งตัว ย้ำเตือนประชาชนหากพบคนในบ้านผิดปกติอย่างน้อย 2 ใน 5 อาการดังต่อไปนี้ คือ หลงผิดประสาทหลอน พูดฟังไม่รู้เรื่อง มีพฤติกรรมแปลกๆ และสีหน้าอารมณ์ไม่เหมาะสม ให้รีบพาไปรักษาที่รพ.ใกล้บ้าน โอกาสหายป่วยหรือทุเลามีสูง
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคจิตเภท(Schizophrenia) ว่า โรคนี้เป็นการเจ็บป่วยทางจิตที่รุนแรง พบได้มากที่สุดประมาณร้อยละ70 ของกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตทั้งหมด พบได้ทั่วโลกทั้งหญิงและชาย มักมีอาการเรื้อรัง สาเหตุเกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ มีผลให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติทั้งความคิด การรับรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง มีอารมณ์และพฤติกรรมผิดแผกไปจากคนทั่วไป
ตลอดช่วงชีวิตประชาชนจะพบอัตราป่วยโรคนี้ได้ประมาณร้อยละ 1 แม้ว่าจะเกิดไม่มาก แต่เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพประชากรรุนแรง คือทำให้ผู้ป่วยไร้ความสามารถในการดำเนินชีวิต โดยมักจะเริ่มมีอาการป่วยในช่วงอายุ 15-35 ปี ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 44,000 คน ในปีที่ผ่านมารพ.เครือข่ายในเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งมี 89 แห่ง ได้ให้การรักษาและฟื้นฟูครอบคลุมผู้ป่วยแล้วร้อยละ 85 ตั้งเป้าจะให้ครอบคลุมทั้งหมดโดยเร็วตามนโยบายของกรมสุขภาพจิต
สำหรับลักษณะอาการเฉพาะที่โดดเด่นของโรคจิตเภทมักพบได้บ่อยมี 5 อาการคือ 1.หลงผิด เช่นผู้ป่วยคิดว่าตนเองมีอำนาจลึกลับ ส่งกระแสจิตได้ หรือเป็นผู้วิเศษ 2.ประสาทหลอนคือมีการรับรู้ที่ผิดปกติ ที่พบบ่อยคือหูแว่ว เช่นได้ยินเสียงใบไม้ไหวเป็นเสียงเพลง ได้ยินเสียงคนนินทาทั้งๆที่ไม่มีใครอยู่ใกล้ บางคนมองเห็นผิดเพี้ยนไป เช่น เห็นเชือกเป็นงู บางคนอาจได้กลิ่นผิดปกติ บางคนรู้สึกว่ามีแมลงไต่ตามตัว เป็นต้น 3. การพูดจาไม่สัมพันธ์หรือไม่ประติดประต่อกัน พูดหลายเรื่องมารวมกัน 4. มีพฤติกรรมถดถอย เช่น แสยะยิ้ม แต่งตัวแปลกประหลาด แยกตัวเองออกจากสังคม หรืออยู่ในท่าทางแปลกๆ ทำอะไรเป็นพิธีกรรมไปหมด เป็นต้น 5. อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น สีหน้าทื่อๆ ไม่แสดงอารมณ์ เฉยเมย บางคนแสดงอารมณ์ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์
“ หากพบคนในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิด มีอาการที่กล่าวมาอย่างน้อย 2 ข้อ ปรากฏมานาน 1 เดือนขึ้นไป ขอให้สงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคจิตเภท ขอให้รีบพาไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว สามารถใช้สิทธิการรักษาได้เช่นเดียวกับโรคทางกาย หัวใจหลักของการรักษาคือการใช้ยาเพื่อทุเลาอาการทางจิต ควบคู่กับการฟื้นฟูทางจิตใจและสังคมตามสภาพปัญหาผู้ป่วยแต่ละราย โรคนี้ยิ่งถึงมือแพทย์เร็วเท่าใด ยิ่งเป็นผลดี ผู้ป่วยจะมีโอกาสหายขาดหรือทุเลา สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำงานได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป” นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อไปว่า หากเป็นโรคจิตเภทแล้วไม่รักษาหรือรักษาอย่างไม่ถูกทาง จะทำให้อาการทางจิตยิ่งทรุดลงและเรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงอันตรายทำร้ายตัวเองหรือสิ่งของหรือคนรอบข้าง ผู้ป่วยจะสูญเสียศักยภาพความสามารถในการดำเนินชีวิต ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้เปรียบเทียบความรุนแรงว่าเท่ากับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตทั้งตัวคือร่างกายอ่อนแรงขยับตัวไม่ได้เลย และยังอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้า นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ รวมทั้งอาจกลายเป็นคนติดเหล้าหรือสารเสพติดจากการที่ผู้ป่วยพึ่งพิงใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อลดอาการหลอนทางประสาทของตัวเอง ยิ่งเกิดความซับซ้อน ยุ่งยากขึ้นไปอีก
สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทที่ผ่านการบำบัดรักษาและออกจากโรงพยาบาลฯแล้ว เงื่อนไขสำคัญที่ส่งเสริมการหายป่วยจากโรคนี้ก็คือ ครอบครัวและญาติต้องดูแลให้ผู้ป่วยกินยาให้ต่อเนื่องครบสูตรตามที่แพทย์สั่งอย่างน้อย 6 เดือนหรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับอาการและระยะเวลาของการป่วย ต้องไม่ปรับลดหรือเพิ่มยาเอง พาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และดูแลไม่ให้ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมทุกชนิด งดสูบบุหรี่และสารเสพติดทุกชนิดซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นให้อาการกำเริบ ป่วยซ้ำอีก ยิ่งป่วยซ้ำถี่เท่าใด ยิ่งทำให้สมรรถภาพเสื่อมถอยลง
นอกจากนี้ควรดูแลจิตใจ อารมณ์ คุณค่าความรู้สึกของผู้ป่วยด้วย โดยพูดคุยให้กำลังใจ ให้ผู้ป่วยทำงานตามศักยภาพเพื่อสร้างความรู้สึกว่ามีคุณค่าในครอบครัว เรื่องที่พึงระมัดระวังก็คือไม่พูดประชดประชัน เจ้ากี้เจ้าการเกินความจำเป็น หรือพูดตำหนิติเตียน เปรียบเทียบผู้ป่วยกับคนอื่น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดอารมณ์โกรธหรือเสียใจ หรือรู้สึกไร้คุณค่า
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit