ดีไอทีพี แชร์ 3 เทคนิคแปลงร่างเกษตรไทยให้โตได้ด้วยตลาดออนไลน์

02 Jun 2020

การทำการตลาดแบบเดิมของชาวนาและเกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าทางการเกษตรนั้นอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากการตลาดรูปแบบเดิมนั้นเหมาะสำหรับการขายสินค้าหรือพืชผลทางการเกษตรผ่านทางพ่อค้าคนกลาง เพียงอย่างเดียว และในขณะที่ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญสถานการณ์มหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกจากโรคโควิด-19 ผู้ประกอบการทั่วโลกยังถูกบีบและร่นระยะเวลาให้เข้าสู่ระบบการตลาดดิจิทัลไปโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้เกิดการเรียกวิกฤตการณ์นี้ว่า “COVID Disruption” วิกฤตที่ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องหันกลับมาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจ การขาย การตลาดในรูปแบบใหม่ทั้งหมด หรือชีวิตวิถีใหม่(NEW NORMAL) เพื่อปรับตัวให้สามารถยืนหยัดต่อสู้กับสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการและผู้บริโภคจึงถูกดึงดูดให้ก้าวเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างที่ใครก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ดีไอทีพี แชร์ 3 เทคนิคแปลงร่างเกษตรไทยให้โตได้ด้วยตลาดออนไลน์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดโครงการสัมมนาหลักสูตร “Smart Farmer ออนไลน์สู่ตลาดโลก เพื่อให้ความรู้และเทคนิคเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือการตลาดดิจิทัลกับการขายสินค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรกับเกษตรกรรุ่นใหม่ให้ประสบความสำเร็จ โดยหนึ่งในวิทยากร คือ “คุณโซอี้ หรือ ภญ.โสภา พิมพ์สิริพานิชย์” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงของผู้ประกอบการธุรกิจและเอสเอ็มอีของไทยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดออนไลน์และเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งการสร้างแบรนด์ธุรกิจ Zoe Scarf ผ้าพันคอที่ขายดีทั้งในไทยและต่างประเทศ จนถึงมีชื่อเป็น LINE@ Certified Trainer คนแรกของประเทศไทย

โดยได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และกลยุทธ์ในการขายสินค้าและการทำการตลาดให้กับเกษตรกรไทยรุ่นใหม่ โดยมีเทคนิคสำคัญที่ต้องจำและนำไปปรับใช้ 3 ข้อ คือ

  • อยากรอดต้องรีบปรับ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม คนส่วนใหญ่ยังอยากออกไปทานอาหารนอกบ้าน ออกไปทำเล็บ ทำสปา ทำผม ทำกิจกรรมต่างๆ เพราะคนยังต้องการการเข้าสังคมอยู่ ดังนั้น ธุรกิจบริการยังฟื้นตัวได้ แต่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นที่จะต้องรีบปรับตัว เพราะถ้าไม่ปรับโลกจะเป็นคนปรับเอง จะเห็นได้ว่าจากคลื่นโควิดที่กำลังถาโถมเข้ามาตอนนี้ เป็นเพียงคลื่นลูกแรกที่เกิดขึ้น แต่ในอนาคตอาจจะมีคลื่นลูกที่สอง หรือสามตามมาอีก ดังนั้น หากต้องการเป็นคนที่อยู่รอด พาธุรกิจตนเองให้รอดพ้นจากวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 นี้ ผู้ประกอบการจะต้องปรับ เปลี่ยน เรียนรู้ ตลอดเวลา อย่าหยุดนิ่งเพียงการขายและการทำการตลาดในรูปแบบเดิมเท่านั้น แต่ยังคงต้องมองหาช่องทางการขายใหม่ ๆ ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้น
  • อิทธิพลโซเชียลที่ยังทรงพลัง การสร้างคอนเทนท์และเรื่องราวที่ดีให้กับสินค้า เพื่อดึงดูดความน่าสนใจให้กับลูกค้า ดึงจุดขายของผลผลิตและผลิตภัณฑ์ออกมาให้น่าสนใจ ซึ่งหากคอนเทนท์นั้นได้รับความสนใจจากสังคม ก็จะเปลี่ยนมูลค่าของสินค้านั้นไปอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างจากข่าวในช่วงที่ผ่านมา แม่ค้าไลฟ์สดขายแตงโมกิโลกรัมละ 3 บาท ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอยู่ในมือของตัวเอง เพียงแค่สมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่อง หลังจากนั้นมีคนแห่ซื้อจนขายหมดและ มีออเดอร์มากมายเพียงชั่วข้ามคืน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม่ค้ามีเพียงแค่สมาร์ทโฟนเครื่องเดียว แต่สามารถพลิกวิกฤตนั้น        ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้กลายเป็นโอกาสได้ในพริบตา ซึ่งจะเห็นได้ว่า สถานการณ์ในวันนี้อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ทรงพลังมาก นอกจากจะเป็นการสื่อสารอย่างไร้พรมแดนแล้ว แต่ยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการขายผ่านออนไลน์อีกด้วย
  • การตลาดยุคใหม่เอาใจคนขี้เกียจ อ้างอิงถึง Lazy consumer (ตลาดของคนขี้เกียจ) จากผลการวิจัยพบว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีความขี้เกียจมากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีมาช่วย มีดิจิทัลครอบงำในชีวิตประจำวัน และตลาดคนขี้เกียจ ก็กำลังเป็นเทรนด์ที่เชื่อมโยงกับโลกออนไลน์ จนกลายเป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดกับคนกลุ่มนี้ สำหรับกลยุทธ์ดังกล่าวเรียกว่า “SLOTH Strategy” โดยจะแบ่งคำจำกัดความได้ดังนี้   S= Speed(รวดเร็ว) อยากถูกใจคนขี้เกียจต้องเร็ว , L = Lean (กระชับ ตัดทอน)พยายามทำทุกอย่างให้เข้าถึงง่าย , O = Enjoy (สนุกสนาน) เอาใจด้วยความสนุกและน่าสนใจ , T = Convenient (สะดวก สบาย) ตอบโจทย์ความต้องการให้สะดวกและสบายมากที่สุด , H = Happy (มีความสุข) มอบความสุขและแก้ไขปัญหาให้ได้ตรงจุด และเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการหลายๆ อย่างของคนในยุคนี้ เช่น ต้องการความสะดวกสบาย ไม่มีความยุ่งยาก พร้อมเสมอเมื่อมีความต้องการ นั่นจึงเป็นการตลาดยุคใหม่ที่ความขี้เกียจจะทำให้ธุรกิจยิ่งเติบโต

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการสัมมนาหลักสูตร “Smart Farmer ออนไลน์สู่ตลาดโลก” เป็นหนึ่งในนโยบายและแผนงานสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ในการเร่งส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและเร่งสนับสนุนการส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ ได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศและการตลาดออนไลน์ในการประกอบธุรกิจการค้ายุคใหม่ให้กับเกษตรกรไทยรุ่นใหม่อย่างครบวงจร รวมถึงส่งเสริมศักยภาพและผลักดันผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าเกษตรกรรมที่มีศักยภาพให้ก้าวเข้าสู่การค้าออนไลน์ยุคใหม่และการค้าระหว่างประเทศ โดยประกอบด้วยหลักสูตรที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยรุ่นใหม่มีรายได้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมด้วยแนวทางการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกบนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ อีกทั้งยังมีการเรียนรู้แนวทางจากกูรูด้านเกษตรและการค้าออนไลน์กับแนวทางการแปลงร่างให้เกษตรกรไทยผันตัวสู่ Smart Farmer ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการจัดสัมมนาครั้งนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจากจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ฯลฯ ครอบคลุมเกษตรกรจากกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป (ผงข้าวชงพร้อมดื่ม ซีเรียลจากข้าว ไอศกรีมผลไม้)กลุ่มสินค้าข้าว (ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเหนียว)กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ (ผู้เลี้ยงสุกร ผู้เลี้ยงไก่)กลุ่มสินค้าผลไม้และผักสด (มะม่วง ผักสวนครัว) และกลุ่มสินค้าอื่นๆ(ผ้าพื้นเมืองที่ทำด้วยไหม น้ำซอส) เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานในสังกัดยังเร่งรัดจัดทำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการสนับสนุน ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าเกษตรเข้าไปขายในแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซชั้นนำของไทย ได้แก่ Thailandpostmart, Shopee, Lazada, JD Central, Jatujakmall, Cloudmall, The Hub Thailand และ Octorocket.asia ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการดังกล่าวแล้ว

ดีไอทีพี แชร์ 3 เทคนิคแปลงร่างเกษตรไทยให้โตได้ด้วยตลาดออนไลน์