ภาคการท่องเที่ยวที่คนทั้งประเทศยกให้เป็นฮีโร่ ที่สร้างรายได้เข้าประเทศสูงถึง 3 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา สุดท้ายแล้วก็ต้องพ่ายให้แก่วายร้ายโควิด 19 ที่แผลงฤทธิ์อย่างรุนแรงในทุกระดับของธุรกิจท่องเที่ยว ไล่ตั้งแต่คนขับรถตุ๊กตุ๊ก โฮมสเตย์ขนาดเล็ก ร้านอาหาร จนถึงโรงแรมขนาดใหญ่ ที่กำลังทยอยเลิกกิจการไปอย่างน่าเศร้า
การเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วที่หลายคนไม่ทันตั้งตัวครั้งนี้ สร้างความท้าทายใหม่ ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ชวนเหล่าผู้บริหารและบุคคลที่เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ มาเปิดมุมมอง ถ่ายทอดประสบการณ์ และแนวคิดถึงการปรับตัวในโลกหลังโควิด 19 ในกิจกรรม Re:learning for the Future 19 ความท้าทายใหม่ในโลกที่(ไม่)เหมือนเดิม การท่องเที่ยวคือหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ จากคุณสมศักดิ์ บุญคำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด และคุณวรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ ผู้ก่อตั้ง Homemade Stay ชุมชนและระบบการจัดการโรงแรมขนาดเล็ก
“อย่ารอเงินจากนักท่องเที่ยว”
ถึงเวลาที่ต้องหันมามองตลาดภายในประเทศ และเริ่มพึ่งพากันเองมากขึ้น ด้วยความไม่แน่นอน รวมถึงยังไม่มีวี่แววของวัคซีนในเร็ววันนี้ ทำให้การรอให้ทุกอย่างกลับเป็นปกติแล้วหวังเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวคงจะช้าเกินไปสำหรับคนในชุมชน นี่คือโจทย์ยากที่คุณสมศักดิ์ บุญคำ ได้รับจากสถานการณ์โควิด 19 โดยหลังจากปรึกษากับทีมงานก็ได้ข้อสรุปว่า เสน่ห์ของชุมชนนั้นจริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของสถานที่ แต่มีทั้ง อาหาร สินค้า และเรื่องราวที่น่าค้นหา ที่เป็นตัวขับเคลื่อนได้เหมือนกัน จนเกิดเป็น 3 ธุรกิจใหม่
เริ่มต้นธุรกิจแรก โลเคิลอร่อยดี บริการส่งอาหารดีดิลิเวอรี โดยนำเมนูดังจากท้องถิ่นมานำเสนอในรูปแบบใหม่ ปรับรสชาติ ปรับสูตรเล็กน้อย ให้ถูกปากมากขึ้น และที่สำคัญต้องนำเสนอเรื่องราวของแต่ละจานด้วยเพื่อสร้างมูลค่าให้สูงขึ้น
ธุรกิจถัดมา โลเคิล A Lot เว็บไซต์ E-commerce ที่นำสินค้าประจำชุมชนมาจำหน่าย มีการสร้างคอนเทนต์บอกเล่าเรื่องราวของสินค้านั้น ๆ บนโซเชียลมีเดีย ให้คนเห็นภาพ และเข้าใจเรื่องราวในสินค้าแต่ละชิ้น
และธุรกิจที่สาม โลเคิลอราว เป็นการสร้างวิดีโอคอนเทนต์เล่าเรื่องราวของแต่ละชุมชน เกร็ดความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้าน เน้นสร้างมูลค่าให้แก่สถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ เพื่อให้คนยังได้รับรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ และอาจกลับมาในวันที่สถานการณ์ดีขึ้น
ทั้งสามธุรกิจเบื้องต้นมาจากแนวคิดที่ว่า ถ้านักท่องเที่ยวไม่มี ต้องหันมามองสิ่งอื่นที่เรามี ใส่สตอรี่ เพิ่มมูลค่าและนำมาขายได้ เพื่อความอยู่รอดของชุมชน
กฎใหม่ มาพร้อมวิธีเที่ยวแบบใหม่
คุณสมศักดิ์ บุญคำ เผยว่า รัฐบาลไทยกำลังจัดทำมาตรฐาน SHA (Safety Heath Administration) ที่จะเป็นมาตรฐานใหม่ของภาคการท่องเที่ยว ที่คนในวงการธุรกิจต้องปรับตัวและเรียนรู้ อย่างเช่น แต่ก่อนรถตู้ที่นั่งได้เต็มคัน อาจจะต้องน้อยลง สถานที่ท่องเที่ยวที่คนหนาแน่นต้องมีจัดระเบียบ พฤติกรรมคนจากเดิมที่เน้นเที่ยวกระจุก ไปไหนพร้อมกันหลายคน จะเปลี่ยนเป็น Multiple Origin หรือการเดินทางหลากหลายที่ เพราะต้องหลีกเลี่ยงสถานที่หนาแน่น
กระแสโรดทริปจะกลับมา
คุณวรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ ผู้ก่อตั้ง Homemade Stay มองว่าธุรกิจการบินจะไม่เหมือนเดิม ด้วยนโยบาย Social Distancing ทำให้เครื่องบินไม่สามารถจุคนได้เต็มลำเหมือนเดิม นำมาสู่ค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น รวมถึงคนยังตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัย และความสะอาดบนเครื่องบิน สิ่งนี้เองอาจเป็นตัวผลักดันทำให้กระแสขับรถเที่ยวในอดีตกลับมาอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นโอกาสทองสำหรับเมืองรอง และเมืองทางผ่านที่จะได้มีโอกาสโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวของตัวเองอีกครั้ง ดังนั้นนี้จึงเป็นโจทย์ที่คนในชุมชนต้องเริ่มเตรียมตัวให้พร้อม เพราะอย่างไรก็ตามพวกเราทุกคนคงต้องพึ่งภาคการท่องเที่ยวในประเทศไปอีกสักพัก
โรงแรมขนาดเล็กได้เปรียบ
ต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดใหญ่ที่ต้องทำตามมาตรการของรัฐ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ไม่อยากเสี่ยงเข้าพักในที่ที่มีคนจำนวนมาก ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้โรงแรม และโฮมสเตย์ขนาดเล็กได้เปรียบ แต่ต้องไม่ลืมว่า เราต้องมีจุดขายที่แตกต่างและชัดเจน ซึ่งคุณวรพันธุ์ แนะนำว่า “ธรรมชาติ” ยังคงเป็นหนึ่งในจุดขายที่แข็งแรง ที่เหล่านักท่องเที่ยวยังต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังโควิด ที่ทุกคนต่างเก็บตัวอยู่บ้านมานาน
งัดวิชานอกตำราออกมาใช้
จากแนวคิดทั้งหมดที่กล่าวมา อาจสรุปได้ว่าแนวทางการทำธุรกิจต่อจากนี้ อาจเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ใน ตำราอีกแล้ว คุณกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ย้ำว่า นี่เป็นเวลาที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ให้เร็วขึ้น เปิดใจกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน บางสิ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่เกิดจากการพูดคุยทำความเข้าใจกับคนด้วยกันเองจริง ๆ จนสุดท้ายเราก็จะค้นพบสิ่งใหม่ที่อาจตอบโจทย์ธุรกิจเราได้
สุดท้ายนี้ไม่ว่าโลกหลังโควิดจะเป็นแบบไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับ และเข้าใจคือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การปรับตัวให้เร็ว การเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถอยู่รอดได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit