“เสาร์นี้เรามีนัดกัน” พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนกระบุรี พลัง “Kids” เปลี่ยนทุกวันเสาร์ให้เป็น “วันเด็ก” ที่บ้านห้วยไทรงาม

02 Apr 2020

ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดของเด็กๆ หลายคนอาจใช้เวลาอยู่ที่หน้าจอโทรทัศน์ หรืออยู่กับโทรศัพท์มือถือ แต่เด็กๆ ที่บ้านห้วยไทรงาม ชุมชนบนหุบเขาสวย ในพื้นที่อำเภอกระบุรี จังหวัดระนองกลับใช้เวลามาพบกัน ร้องเพลง เล่นกีฬา ทำขนม และทำงานศิลปะท่ามกลางบรรยากาศดีๆ ในชื่อโครงการ “วันเสาร์นี้เรามีนัดกัน”    

“เสาร์นี้เรามีนัดกัน” พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนกระบุรี พลัง “Kids” เปลี่ยนทุกวันเสาร์ให้เป็น “วันเด็ก” ที่บ้านห้วยไทรงาม

จุดเริ่มต้นของโครงการสนับสนุนโดย สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้การดูแลของ “โครงการพัฒนาศักยภาพและติดตามสนับสนุนการดำเนินงานโครงการสร้างเสริมสุขภาพงานด้านเด็กและเยาวชนจังหวัดระนอง” ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มเยาวชนบ้านห้วยไทรงามในชื่อกลุ่ม “Give for 10” เห็นว่าเด็กและเยาวชนในชุมชนมีหลายช่วงอายุ ส่วนมากจะอยู่แต่ในบ้าน เด็กๆ จึงไม่ค่อยสนิทกัน เนื่องจากไม่มีสถานที่ในการออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน จึงทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ เด็กไม่มีสมาธิ บกพร่องทางการเรียนรู้ อ่าน เขียนไม่ค่อยได้ เก็บตัวไม่กล้าแสดงออก    

บางครอบครัวก็ปล่อยลูกให้อยู่กับโทรศัพท์มากจนเกินไป เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรต้องทำงานในสวน เด็กๆ ต้องอยู่บ้านตามลำพังในวันหยุด หรือในกลุ่มที่ก้าวเข้าสู่วัยรุ่นก็จะจับกลุ่มกันโดยไม่มีผู้นำที่มีวุฒิภาวะ เกิดความเสี่ยงในหลายด้าน     “พวกเราจึงรวมกลุ่มกันจัดตั้งแกนนำเพื่อลดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของเด็กๆ และลดปัญหายาเสพติด และการเข้าหาเพื่อนในทางที่ผิด ด้วยการจัดกิจกรรม ส่งเสริมสุขภาพและสติปัญญา เสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับไปใช้ในชีวิตประจำวัน และทำให้เวลาว่างเกิดประโยชน์” นางสาวนริศรา บุญสมบัติ หรือ น้องนุก หัวหน้าโครงการวันเสาร์นี้เรามีนัดกัน เล่าถึงความเป็นมา    

กิจกรรมที่น้องนุกและเพื่อนๆ  ภายใต้ชื่อกลุ่ม “Give for 10” เลือกมาให้เด็กๆ ในชุมชนได้มาทำร่วมกัน เกิดความสนุกสนานและได้ประโยชน์มีหลากหลายและผลัดเวียนไปในทุกวันเสาร์ ได้แก่ กิจกรรมเสริมความรู้ทางวิชาการและความรู้ด้านเสริมทักษะผ่านทางการฝึก เช่น การทำขนม หรือ การให้ความรู้ด้วยการใช้สื่อการสอนแบบ Kahoot  ซึ่งเป็นการแข่งขันความรู้เชิงวิชาการระหว่างเด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมผ่านแอพพลิเคชั่น มีการเสริมแรงด้วยการมอบรางวัล    

มีกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพด้วยการร้องเพลง เล่นกีฬา การออกแบบท่าเต้นต่างๆ ประกอบเพลงซึ่งเด็กๆ ให้ความสนใจเนื่องจากมีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะเข้าร่วมกิจกรรม โชว์ความสามารถของตนในการประกวดร้องเพลง  การเต้นเชียร์  ใน “งานกีฬาดอกกาแฟเกม” ซึ่งเป็นงานแข่งกีฬาประจำปีของหมู่บ้าน    

“ชุมชนของเราไม่เคยมีกิจกรรมที่เด็กๆ ทำกันเองมาก่อน เขามีความสุขเราก็ดีใจ อยากให้มีโครงการแบบนี้ต่อไปอีก” นางน้อย บุญสมบัติ หรือ แม่น้อย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยไทรงาม แม่ของน้องนุก หัวหน้าโครงการฯ ผู้เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของเหล่าเด็กๆ  ด้วยการอาสาเป็นพี่เลี้ยงโครงการและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในชุมชนให้การสนับสนุนทั้งสถานที่ อุปกรณ์ และอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามความต้องการของเด็กๆ อย่างเต็มที่    

“ตั้งแต่เริ่มโครงการ เราสามารถจัดกิจกรรมได้แทบทุกวันเสาร์ ยกเว้นวันที่ฝนตกหนักหรือเป็นช่วงสอบ เราจัดงานมามากกว่ายี่สิบครั้ง มีเด็กเข้าร่วมครั้งละประมาณ 15-25 คน” จากคำบอกเล่าของน้องนุก หากวัดความสำเร็จในเชิงตัวเลข ความถี่ในการจัดกิจกรรมที่หมุนเวียนไปตามสถานที่ต่างๆ ในหมู่บ้าน และจำนวนเด็กเข้าร่วมในทุกกิจกรรม น่าจะบ่งชี้ความสำเร็จของโครงการได้ชัดเจน    

แต่หากวัดจากรอยยิ้มและความสนุกสนานของเด็กเกือบ 40 คน ทั้งเด็กโตที่มาด้วยตนเอง และเด็กเล็กๆ ที่มาพร้อมผู้ปกครองที่เข้ามาร่วมงานกลายเป็นกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเกือบร้อยคนในกิจกรรมส่งท้ายก่อนที่เด็กๆ จะแยกย้ายไปเตรียมตัวสอบ ถือเป็นภาพความสำเร็จที่ชัดเจนยิ่งนัก    

“ผมมาทำกิจกรรมหลายครั้ง ได้ร้องเพลง วิ่งเปี้ยว ระบายสี แต่ชอบเตะบอลมากที่สุด” เด็กชายณรงค์ชัย จันทะสาร หรือ น้องโอ๊ต นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อธิบาย โดยน้องโอ๊ตคือหนึ่งในนักฟุตบอลที่ลงแข่งขันกระชับมิตรกับเด็กในหมู่บ้านใกล้เคียงใน “ดอกกาแฟเกม” ซึ่งนอกจากได้ออกกำลังกายแล้วยังได้รู้จักกับเพื่อนต่างหมู่บ้านเพิ่มขึ้นอีก    

“แม้ว่าการร้องเพลง ระบายสี เต้น เล่นกีฬา เป็นกิจกรรมง่ายๆ แต่พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กๆ ได้เกิดขึ้นทุกวันเสาร์อย่างต่อเนื่องถึง 6 เดือน โดยที่เด็กๆ เป็นคนจัดการกันเองได้ ถือเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งและน่าชื่นชม เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างมาก ทางทีมงานสนใจที่จะวิเคราะห์ผลสำเร็จทั้งปัจจัยด้าน ตัวเด็กๆ เอง ตัวแกนนำ และชุมชน เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จนี้สำหรับนำไปเป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาโตรงการสำหรับเด็กและเยาวชนต่อไปในอนาคต” นายนิพนธ์ มีชัย หรือพี่หนุ่มของเด็กๆ หัวหน้าทีมสนับสนุนวิชาการ “หน่วยจัดการงานเด็กและเยาวชนจังหวัดระนอง” ชื่นชมความสามารถของน้องๆ กลุ่ม “Give for 10” ที่สามารถสร้างรูปแบบของโครงการที่ทำโดยเด็กและทำเพื่อเด็กได้อย่างประสบความสำเร็จ    

จากกิจกรรมง่ายๆ ที่เกิดจากไอเดียและการจัดการกันเองของเด็กๆ  โดยไม่มีผู้ใหญ่แทรกแซง กลายเป็นกิจกรรมที่ สนุก มีความสุข และสร้างสรรค์ สนองความต้องการของเด็กๆ อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการสนับสนุนของชุมชน ส่งผลให้เกิดสุขภาวะทั้งด้านร่างกายและจิตใจแก่เด็กๆ ห้วยไทรงาม หมู่บ้านกลางหุบเขาแห่งนี้ในทุกวันเสาร์ ประหนึ่งว่าที่ชุมชนแห่งนี้มีการจัดงานวันเด็กในทุกสัปดาห์

“เสาร์นี้เรามีนัดกัน” พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนกระบุรี พลัง “Kids” เปลี่ยนทุกวันเสาร์ให้เป็น “วันเด็ก” ที่บ้านห้วยไทรงาม “เสาร์นี้เรามีนัดกัน” พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนกระบุรี พลัง “Kids” เปลี่ยนทุกวันเสาร์ให้เป็น “วันเด็ก” ที่บ้านห้วยไทรงาม “เสาร์นี้เรามีนัดกัน” พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนกระบุรี พลัง “Kids” เปลี่ยนทุกวันเสาร์ให้เป็น “วันเด็ก” ที่บ้านห้วยไทรงาม