รถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ ผลงานนักศึกษาคณะครุศาสตร์ฯ มจพ. วิ่งจ่ายยาอัตโนมัติถึงเตียงผู้ป่วย

17 Apr 2020

นวัตกรรมใหม่ล่าสุดของรถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ ผลงานของนักศึกษานายเกียรติศักดิ์  เพ็ชรมาก และนางสาวกนิษฐา โกอินต๊ะ สาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์  ภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา  คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ผศ.ดร.ดวงกมล โพธิ์นาค เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา รถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะมีขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร สูง 65 เซนติเมตร  โครงสร้างใช้แผ่นอะคริลิค สีขาวขุ่น หนา 5 เซนติเมตร ในการปิดโครงรถเข็น ส่วนระบบฐานข้อมูลจะใช้ Firebase ในการเก็บข้อมูลตำแหน่งยา และใช้ SQL ในการเก็บประวัติการจ่ายยา  รวมถึงภาษาที่ใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์เป็นภาษา HTML  ภาษา PHP  ภาษา JavaScript และภาษาที่ใช้ในการพัฒนารถเข็น ภาษา C++  รถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะใช้แหล่งจ่ายจากแบตเตอรี่ 12V 20A และเมื่อแบตเตอรี่มีแรงดันไฟต่ำ ระบบจะมี โมดูล XH-M604 ควบคุมค่าประจุโมดูล DC 6-60 เป็นโมดูลที่ใช้สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ โดยการป้อนไฟ 220V และเมื่อแบตเตอรี่มีแรงดันเต็ม 100% ระบบจะทำการตัดไฟโดยอัตโนมัติ  สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการสร้างเป็นจำนวนเงิน  2   หมื่นบาท  โดยใช้ระยะเวลาในการประดิษฐ์ต้นแบบ  4 เดือน นับว่าเป็นนวัตกรรมการจ่ายยาที่ยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาล ที่นำเอาเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันเข้ามามีความสำคัญต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตเพื่อความสะดวกในการดูแล การจ่ายยาให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลจะเป็นหน้าที่ของพยาบาล เพื่อนำยาไปให้ผู้ป่วยทุกเตียง ตลอดจนการดูแลผู้ป่วย นำนวัตกรรมมาใช้แก้ปัญหาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้ยาที่แม่นยำและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นบริการยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาล โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้โดยมุ่งเน้นการพัฒนารถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะบูรณาการกับความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการพัฒนารถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะอย่างสูงสุด    

รถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ ผลงานนักศึกษาคณะครุศาสตร์ฯ มจพ. วิ่งจ่ายยาอัตโนมัติถึงเตียงผู้ป่วย

จุดเด่นหรือลักษณะเด่นของนวัตกรรมรถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ จะมีการทำงานโดยชุดอุปกรณ์ควบคุมการทำงาน  เมื่อเริ่มใช้งานรถเข็นจะสามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้  พยาบาลนำยาใส่ลงในลิ้นชักแต่ละช่องและกรอกข้อมูลลงในระบบผ่านเว็บไซต์เพื่อระบุตำแหน่งยาของผู้ป่วยแต่ละเตียง เมื่อเริ่มการทำงานรถเข็นจะวิ่งไปยังเตียงของผู้ป่วยโดยอัตโนมัติ โครงรถเข็นจะใช้เหล็กกล่องขนาด 1*1นิ้ว  ส่วนลิ้นชักบรรจุยามีขนาด ขนาด 16 x 10 x 22 ซ.ม. (กว้าง x ยาว x สูง) และใช้รางลิ้นชักแบบลูกล้อความยาว 10 นิ้ว ซึ่งตัวลิ้นชักเองจะใช้มอเตอร์เกียร์ ความเร็วรอบ 150 RPM ในการลากจูงลิ้นชักสำหรับ เปิด – ปิด ลิ้นชัก ทั้งนี้รถเข็นจะจำลองระบบการทำงานออกทั้งหมด 4 ลิ้นชัก สำหรับผู้ป่วย 4 เตียง รถเข็นจะมี Switch On Off ใช้สำหรับเปิดระบบการทำงานทั้งหมดของรถเข็น  ใช้มอเตอร์บอกระดับแรงดันแบตเตอรี่ 0-100%  มี Button กดติด ปล่อยดับ สำหรับการเปิด-ปิดลิ้นชักเพื่อให้พยาบาลนำยาใส่  ภายในลิ้นชักจะมีเซ็นเซอร์เพื่อตรวจการรับยาของผู้ป่วย หากผู้ป่วยไม่รับยาภายใน 2 นาที  จากนั้นระบบจะทำการปิดลิ้นชัก และวิ่งไปจ่ายยาเตียงต่อไป และหากผู้ป่วยรับยาแล้วลิ้นชักจะทำการปิดและไปจ่ายยายังเตียงต่อไป    

รถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะยังมีความพิเศษที่ลักษณะของล้อรถเข็นใช้ล้อยูรีเทนขนาด 3 นิ้ว  จำนวน 4 ล้อ เพื่อใช้ในการรับน้ำหนักของรถเข็น และใช้มอเตอร์เกียร์ขนาด 12V ความเร็วรอบ 50rpm จำนวน 2 ตัวและใช้ไดร์มอเตอร์เพื่อควบคุมความเร็วของมอเตอร์ในการควบคุมล้อเพื่อการขับเคลื่อนรถเข็น ในขณะที่รถเข็นกำลังเคลื่อนที่ไปจ่ายยา และช่วงเวลานั้นรถเข็นวิ่งไปเจอสิ่งกีดขวางในระยะน้อยกว่า 50 เซนติเมตร รถเข็นจะหยุดวิ่งและส่งสัญญาณเสียงเพื่อเตือน และเมื่อไม่มีสิ่งกีดขวางรถเข็นจะวิ่งต่อโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามระบบของรถเข็นจะออกแบบการใช้งานเป็น 2 ระดับ คือ ระดับผู้ใช้งาน และผู้ดูแลระบบ  ในส่วนของผู้ใช้งานยังเป็นพยาบาลจะสามารถเพิ่มตำแหน่งจ่ายยา และเรียกดูประวัติการจ่ายยาของผู้ป่วยได้ และในส่วนของผู้ดูแลระบบจะสามารถเพิ่มข้อมูลตำแหน่งยา เรียกดูประวัติการจ่ายยา สมัครสมาชิก และระบบการจัดการสมาชิก    

ประโยชน์จากนวัตกรรมรถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ นับว่ามีประโยชน์มากที่สามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนารถเข็นจ่ายยา เนื่องจากรถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะสามารถเพิ่มความสะดวกมากขึ้นในการจ่ายยาให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาล  ลดภาระและระยะเวลาในการทำงานของพยาบาล ลดความเสี่ยงการติดเชื้อของพยาบาลจากการนำยาไปจ่ายให้แก่ผู้ป่วยโรคติดต่อได้ด้วย ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นต่อโรงพยาบาลอย่างยิ่ง  ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาในขายเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรถเข็นจ่ายยาโดยการสร้างลิ้นชักการจ่ายยาให้ได้จำนวนมากขึ้นและเพียงพอต่อการจ่ายยาในแต่ละรอบ  รวมถึงการพัฒนา Software ให้สามารถบันทึกข้อมูลได้ง่ายขึ้น โดยการติดตั้งจอทัชสกรีนเพื่อป้อนบันทึกข้อมูลตำแหน่งจ่ายยาได้ที่ตัวรถเข็นได้เลย

สอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา  คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) หรือที่ ผศ.ดร.ดวงกมล โพธิ์นาค โทรศัพท์ 064-639-4888 หรือนายเกียรติศักดิ์ เพ็ชรมาก โทรศัพท์ 0907080272 และนางสาวกนิษฐา โกอินต๊ะ โทรศัพท์ 0907796372

HTML::image( HTML::image( HTML::image(