คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาออนไลน์ฟรี “พิชิตวิกฤตธุรกิจโควิด-19” โดยวิทยากรผู้บริหารชั้นแนวหน้าระดับประเทศร่วมแชร์ประสบการณ์และแนวคิด โดยถือเป็นโมเดลนำร่องของคณะฯ ในการทำ DSR (Digital Social Responsibility) ในการช่วยเหลือสังคมผ่านดิจิทัล นำโดย รศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะบัญชีฯ จุฬาฯ โดยเชิญ 3 ซีอีโอขององค์กรชั้นนำระดับชาติศิษย์เก่าของคณะฯ ได้แก่ นวลพรรณ ล่ำซำ แห่งเมืองไทยประกันภัย, ขัตติยา อินทรวิชัย แห่งธนาคารกสิกรไทย และ ผศ.ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ แห่งเสนาดีเวลลอปเม้นท์ ร่วมแบ่งปันแนวคิด
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และเศรษฐกิจไม่แพ้กัน รศ.ดร. วิเลิศ เผยถึงวิกฤตในครั้งนี้ไม่ได้กระทบแค่ผู้ที่ได้รับเชื้อร่วม 3,000 คน หากแต่ได้ส่งผลกระทบไปถึงทุกๆ คน เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ เราจึงต้องมี Co-Strategy เพื่อสู้ Covid-19
“เหตุการณ์ครั้งนี้เป็น Sudden Shock และมีความไม่แน่นอน ต้องอาศัยปฏิภาณไหวพริบ แก้โจทย์วันต่อวัน กลยุทธ์ต้องไม่แน่นอนปรับเปลี่ยนให้ทัน สิ่งใดที่ไม่เคยทำ ก็ต้องคิดและทำ และเมื่อธุรกิจไม่สามารถดำเนินต่อไป จำเป็นที่จะต้องมีการ Re-Business และทัศนคติการลดพนักงานคือการมองว่าพนักงานเป็นต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่หากมองพนักงานเป็นสินทรัพย์ที่มาร่วมมือกัน เพื่อนำมาสร้างมูลค่าใหม่ และถ้าจำเป็นต้อง Re-Target เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเดิมที่ไม่ได้ผลแล้ว นอกจากนั้นผู้นำจะต้อง Re-Think เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินต่อไปได้ Re-Process เปลี่ยนวิธีการดำเนินการธุรกิจในรูปแบบใหม่ และ Reunite ด้วยการร่วมมือกันระหว่างบริษัท จึงจะเป็นการ Co-Strategy อย่างแท้จริง
วันนี้คนส่วนใหญ่อยู่บ้าน เราจึงอาศัยดิจิทัลในการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น (Digital Life) เกิดความคุ้นเคยแบบใหม่ และมีข้อมูล (Data) ที่มากมายสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาธุรกิจ สร้างความแตกต่าง นอกจากนั้นการเว้นระยะห่าง (Distance) จะทำให้คนใส่ใจเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่นักธุรกิจต้องร่วมมือกัน พึ่งพาอาศัย และ ค้าขายกันเองให้มากขึ้น (Domestic) โดยในอนาคตอาจมีคลื่นลูกใหม่ สิ่งที่ทำได้เพื่อรับมือคือการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากประสบการณ์ให้ทันท่วงที”
ด้าน นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เผยว่า “วิกฤตที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่กลัวที่จะติดโรค แต่จากการสำรวจพบว่า คนกลัวการตกงาน การไม่มีรายได้มากกว่า ความยากของวิกฤตครั้งนี้คือความไม่แน่นอน ฉะนั้นจะผ่านพ้นต้องอาศัยความเป็น Team Player คือ ทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกัน สร้างความสมดุลระหว่างสุขภาพ กับ เศรษฐกิจ ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ด้วยการคิดนอกกรอบและมองทุกมุมให้ครบทุกด้าน และต้องรู้จักที่จะเรียนรู้ทำอะไรในสิ่งใหม่ๆ เชื่อมั่นว่าจะมีหลายธุรกิจ หลายอาชีพ กลับมาได้ในช่วงวิกฤตนี้ และเชื่อว่าจากวิกฤตนี้หลายคนเปลี่ยนแนวความคิดมุมมองไปสู่การเป็นสังคมที่ต้องพึ่งพาอาศัย ให้ความเอื้ออาทร อยู่ร่วมกันอย่างผาสุข มีอาชีพที่มีความสุข และมีความยั่งยืน วัดดัชนีความสำเร็จด้วยความสุขโดยที่จะไม่มองว่าเงินเป็นเรื่องสำคัญที่สุดอีกต่อไป”
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า “มีโอกาสได้เห็นวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาหลายครั้ง แต่สิ่งที่เห็นจากการเกิดวิกฤตมาโดยตลอดคือ เราจะมีความแกร่งขึ้น เก่งขึ้น เตรียมพร้อมรับมือมากขึ้น เพราะในทุกวิกฤตจะสอนให้เราได้เรียนรู้ เช่นเดียวกับวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ หากเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งมีความแตกต่าง คือกว้างกว่า ไปทุกประเทศ ยาวกว่า คือยาวนานกว่า ลึกกว่า คือกระทบไปทุกอุตสาหกรรม และทุกระดับ คือกระทบกันหมดทุกระดับชั้น
ในฐานะผู้นำที่จะต้องนำพาทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ พนักงานและครอบครัวต้องมีความปลอดภัย โมเดลของการทำงานต้องชัดเจน ในขณะเดียวกันเรื่องการสื่อสารกับพนักงานต้องบ่อยมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจ ในส่วนของลูกค้าต้องไม่ฉวยโอกาสในการขึ้นราคา การเจรจาต่อรองต่างๆ ต้องตรงไปตรงมา เวลานี้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ธนาคารต้องเป็นสื่อกลางในการถ่ายโอนความช่วยเหลือนี้ไปยังลูกค้าให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด
หลังจากโควิด-19 ต้องนำพาองค์กรกลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด และ reimagine กลับมาใหม่ภายใต้บริบทใหม่ โดยใช้หลัก 2M 6P คือ Market เข้าใจภาวะการตลาดต่าง ๆ รวมถึงลูกค้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร Product Price Place Promotion People Productivity และไม่ลืม Make It Happen ทำให้เกิดขึ้น ให้ครอบคลุม คล่องตัว ยืดหยุ่น และแข็งแกร่งในคราวเดียวกัน”
ผศ.ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า “วิกฤตครั้งนี้รุนแรงเป็นเหมือนผลกระทบวิกฤตน้ำท่วมผสมกับวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่สิ่งที่ยากในวิกฤตครั้งนี้คือความไม่แน่นอนที่คาดเดาได้ยาก การแก้ต้องเริ่มจากในองค์กร ใช้แนวทาง CAP (Cope , Adjust , Positioning) โดยที่บริษัทใช้ Cope กับการแก้ปัญหาระยะสั้น โดยให้การช่วยเหลือแก่ลูกค้า คือกลุ่มคนที่กำลังจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ รวมถึงลูกบ้าน และคู่ค้า ให้เขาสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นที่สุด และพนักงานที่บริษัทต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พนักงาน ทั้งในแง่สุขภาพกายใจ
Adjust การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น การขายอสังหาฯ ผ่านออนไลน์ ซึ่งปกติลูกค้าที่จะตัดสินใจซื้ออสังหาฯ จะเข้ามาชมประมาณ 3 ครั้ง การขายทางออนไลน์ให้เสมือนกับการชมในรอบแรกของลูกค้าช่วยลดต้นทุนไปได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องระดมสมองเรื่องของ Positioning หลังโควิดเราอยากเห็นตัวเราเป็นอย่างไร เป็นการมองไปในระยะไกล โดยมีการจัดทำ Business Process ขึ้นเพื่อนำไปสู่สิ่งที่คิดไว้ โดยต้องอยู่ภายใต้ความเป็นจริงของกลไกตลาด ส่วนการตัดสินใจใด ๆ ต้องอยู่บนจุดยืน และคุณค่าขององค์กร โดยคำนึงถึงลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และสภาพคล่องของบริษัท”
ปิดท้ายเหล่าผู้บริหารชั้นนำเห็นตรงกันว่าดัชนีความสุข ความสมดุล และความเชื่อมั่นองค์กร และประเทศชาติ รวมถึงการปรับเปลี่ยนตัวเอง และมีความยืดหยุ่น จะนำเรารอดจากวิกฤตในครั้งนี้
“เราไม่ได้เป็นสถาบันที่สอนเน้นแค่การทำกำไร เพราะท้ายสุดธุรกิจต้องการความยั่งยืน จึงต้องมีกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ถึงแม้ในช่วงวิกฤตนี้ เราไม่สามารถทำ CSR ได้แต่เราสามารถกระทำได้ผ่าน DSR (Digital Social Responsibility) โดยใช้ออนไลน์แพลตฟอร์มต่าง ๆ” คณบดี คณะบัญชีฯ จุฬา ฯ กล่าวปิดท้าย
งานสัมมนาออนไลน์ “พิชิตวิกฤตธุรกิจโควิด-19” เป็นส่วนหนึ่งหลักสูตร Quick MBA From Home เป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจเร่งรัดออนไลน์ เพื่อพิชิตวิกฤตธุรกิจ 14 วิชา 14 วัน เปิดสอนฟรีในช่วงวิกฤตธุรกิจนี้ โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโมเดลนำร่องของคณะฯ ในการทำ DSR ช่วยเหลือสังคมผ่านออนไลน์แพลตฟอร์ม ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 9 พฤษภาคม 2563
ติดตามข่าวสารความรู้จากคณะบัญชี จุฬาฯ เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/cbsAcademyChula
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit