ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทางออกยามวิกฤติของราษฎรไทย

28 Apr 2020

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็น 1 ใน 6 แห่งของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเยียวยาแบบยั่งยืนให้กับสังคมในการใช้ชีวิตยามเจอวิกฤติตามธรรมชาติ ด้วยเป็นแหล่งรวบรวมการศึกษา ทดลอง วิจัย และการพัฒนาในการปรับปรุงพื้นดินให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม    

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทางออกยามวิกฤติของราษฎรไทย

เป็นแหล่งให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว แก่ประชาชนและเกษตรกรที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ในทุกสาขาวิชาชีพ เสมือน ”พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จในด้านการเกษตรกรรมและการพัฒนาอาชีพ เป็นต้นแบบและแนวทางให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม    

การดำเนินงานที่ผ่านมาศูนย์ศึกษาฯ ได้นำผลสำเร็จจากการศึกษาทดลองที่ประสบผลสำเร็จแล้วมาขยายผลสู่การปฏิบัติให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ราษฎรมีความกินดีอยู่ดีมีเหลือเก็บเหลือใช้ สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ครอบครัวได้เป็นอย่างดี    

นางวันเพ็ญ  จันทศรี  หนึ่งในเกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมิตรสัมพันธ์   หนึ่งในกลุ่มเกษตรกรขยายผลที่ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้การสนับสนุนเปิดเผยว่า    

“ได้ใช้พื้นที่ของตนเองปลูกไม้ผลประเภทตระกูลส้ม เช่น มะดัน ตะลิงปลิง มะม่วงหาวมะนาวโห และมะนาว  โดยนำผลผลิตที่ได้มาแช่อิ่ม อบแห้ง เพื่อจำหน่าย ก่อนปลูกได้เข้าศึกษาเรียนรู้และดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ตามโครงการนำผลสำเร็จของศูนย์ศึกษาขยายผลสู่การปฏิบัติให้แก่ราษฎรพื้นที่รอบศูนย์ศึกษาฯ”    

“ที่เลือกปลูกพืชตระกูลส้มเพราะเห็นว่าไม่ค่อยซ้ำซ้อนกับเกษตรกรรายอื่นๆ ที่เข้ามาอบรมก่อนหน้านี้ จะช่วยให้สามารถทำการตลาดได้ดีขึ้น ที่สำคัญเป็นพืชที่สามารถนำผลผลิตมาถนอมเป็นอาหารที่ไม่เน่าเสียง่าย สามารถเก็บไว้ได้นาน จะช่วยให้การทำการตลาดได้นานขึ้นความเสียหายในสินค้าและช่องทางการตลาดมียาวนานมากขึ้น“ นางวันเพ็ญ  จันทศรี  กล่าว    

ขณะเดียวกันในการขยายผลความสำเร็จของศูนย์ศึกษาฯ สู่การปฏิบัติของราษฎรนั้น ทางศูนย์ศึกษาฯ ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางหลักสำหรับการปฏิบัติตนเพื่อการทำกินของราษฎรด้วย เนื่องจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้ผู้ผลิตหรือผู้บริโภค พยายามเริ่มต้นผลิต หรือบริโภคภายใต้ขอบเขตของรายได้ หรือทรัพยากรที่มีอยู่เป็นประการสำคัญ ซึ่งก็คือหลักในการลดการพึ่งพาจากภายนอก เพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมการผลิตได้ด้วยตนเอง และลดภาวะเสี่ยงจากการไม่สามารถควบคุมรูปแบบการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่มิใช่หมายความถึงการกระเบียดกระเสียนจนเกินสมควร หากแต่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือลงทุนขยายกิจการจากทุนเหลือเก็บที่พึงได้ภายหลังการใช้จ่ายที่เพียงพอสำหรับชีวิต ครอบครัว และธุรกิจแล้ว คือไม่ใช้จ่ายเกินตัวเกินฐานะที่หามาได้    

“ชีวิตของสมาชิกกลุ่มมิตรสัมพันธ์เมื่อก่อนกับตอนนี้แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะช่วงวิกฤติ COVID-19 ระบาด ทุกคนไม่ออกนอกบ้านไปไหนมาไหน ส่วนใหญ่จะระแวงและป้องกัน แต่ที่หมู่บ้านนี้มีความมั่นใจช่วยกันดูแลเอาใจใส่กัน เอาผลผลิตที่ปลูกที่แต่ละคนต่างมีมาแบ่งปันกันทำให้ทุกครอบครัวมีกินมีใช้ทุกครัวเรือน เพราะทุกคนยึดแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ทำให้มีทุนสำรองสำหรับครัวเรือนอย่างมั่นคงโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ทุกคนสามารถเก็บเกี่ยวกำไรจากที่ฝากไว้บนผืนแผ่นดินมาใช้ในยามนี้ได้อย่างไม่ขัดสน เป็นคลังอาหารที่ไม่มีวันหมดสิ้นตราบใดที่ยังมีแผ่นดินทำมาหากิน และในอนาคตหากเจอสถานการณ์แบบนี้อีกก็จะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน วันนี้ทุกคนไม่ต้องออกจากหมู่บ้านก็ยังมีกินและได้กินอิ่มทุกมื้อทุกครัวเรือนและจะไม่ขัดสนไปอีกนาน เพราะทุกคนได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้จึงทำให้มีความมั่นคงทั้งอาหารและการดำรงชีวิต“ นางวันเพ็ญ  จันทศรี  กล่าว

HTML::image( HTML::image(