โครงการฝายคลองท่าแพรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เป็นโครงการในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำจังหวัดสตูล ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานพระราชดำริให้วางโครงการเพื่อช่วยเหลือราษฎรซึ่งขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตร โดยโครงการฝายคลองท่าแพรฯ เป็นฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาวสันฝาย 13.10 เมตร สูง 1.50 เมตร ควบคุมการทดน้ำและระบายน้ำโดยใช้บานระบาย ชนิดบานโค้ง มีคลองส่งน้ำ จำนวน 7 สาย ความยาวรวม 37.189 กิโลเมตร และมีคลองระบายน้ำ 2 สาย ความยาวรวม 18.840 กิโลเมตร สามารถส่งน้ำเข้าช่วยพื้นที่การเกษตรให้แก่ราษฎรในเขต ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน ตำบลควนโพธิ์ ตำบลฉลุง ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง รวม 4 ตำบล 17 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตร ประมาณ 10,000 ไร่ และส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งประมาณ 600 ไร่
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริเมื่อวันที่ 18 -19 กันยายน 2520 ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทั้งหมดในเขตจังหวัดสตูลไว้เป็นแผนแม่บท (Master Plan) และพระราชทานแผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 แสดงทำเลที่จะสร้างโครงการชลประทาน โดยให้กรมชลประทานใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อสนองพระราชดำริและโครงการคลองท่าแพรก็อยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาตามพระราชดำริด้วย
นายปรีชา สามัญ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายคลองท่าแพรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า ในอดีตตำบลควนโดน มีความแห้งแล้ง ราษฎรที่ทำนาปลูกข้าวประสบปัญหาต้นข้าวยืนต้นตาย จึงร่วมกันขุดลอกคูคลองที่คาดว่าจะพอมีน้ำ อยู่บ้าง และขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเครื่องสูบน้ำมาสูบส่งเข้าพื้นที่นาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ได้ไม่ทั่วถึง ต่อมานายสะอาด กอลาบันหลง ประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน อพป.และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 16 ตำบลฉลุง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ได้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่มีหนังสือร้องเรียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร ขอให้ทางราชการสร้างฝายน้ำล้นในเขตตำบลควนโดน เพื่อช่วยเหลือราษฎรเรื่องน้ำ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังกรมชลประทานพิจารณาดำเนินการ สำนักงานชลประทานที่ 16 จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปพิจารณาเบื้องต้นพบว่ามีแนวทางที่จะช่วยเหลือได้ โดยการสร้างฝายทดน้ำปิดกั้นคลองท่าแพรและขุดคลองส่งน้ำไปช่วยพื้นที่ที่เดือดร้อนขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นไปตามแนวแผนแม่บทของการพัฒนาลุ่มน้ำในเขตอำเภอเมือง และอำเภอละงู ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวของกรมชลประทาน
“ตอนนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน ทุกคนสามารถทำการเพาะปลูกพืชได้หลากหลายนอกจากทำนาปลูกข้าว โดยเฉพาะข้าวให้ผลผลิตดีจนเหลือกินในชุมชน สามารถนำมาแปรรูปเป็นข้าวสารส่งขายในชุมชนอื่น ๆ ได้อีกด้วย ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม มีกินมีใช้อย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน” นายปรีชา สามัญ กล่าว
นอกจากนี้ กรมชลประทานในพื้นที่ ยังได้ปรับปรุงฝายและระบบส่งน้ำให้สามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่ของราษฎรได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ และจะได้พิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายพื้นที่ส่งน้ำให้กับราษฎรต่อไป ขณะที่ราษฎรมีความต้องการที่จะให้เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำบริเวณหัวฝาย เพื่อเป็นธนาคารน้ำส่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรมากขึ้นในอนาคต
นับเป็นพระปรีชาญาณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำทั้งหมดในเขตจังหวัดสตูล ได้สร้างวิถีชีวิตที่ดีขึ้นให้กับราษฎร และยังได้รับการสานต่อมายังรัชสมัยปัจจุบันในการพัฒนาแหล่งน้ำรองรับความต้องการของราษฎรที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกขณะ
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit