องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ทุกวันที่ 25 เมษายนของทุกปีเป็นวันมาลาเรียโลก สำหรับประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการป้องกัน ควบคุม รักษา และกำจัดโรคมาลาเรียอย่างเข้มแข็ง ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติการจดทะเบียนยาทาเฟโนควิน (Tafenoquine) ยาเม็ดขนาด 150 มก. เพื่อใช้รักษาโรคมาลาเรียจากเชื้อพลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ แบบหายขาด โดยสามารถป้องกันไข้กลับในผู้ป่วยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป
แพทย์หญิงชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการรับมือกับโรคมาลาเรียตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ จากรายงานในปี 2561 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียประมาณ 5,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับปี 2559 อย่างไรก็ตาม เชื้อมาลาเรียชนิดพลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ (P. vivax) ได้กลายเป็นสาเหตุหลักของผู้ป่วยโรคมาลาเรียในไทยในปัจจุบันแทนเชื้อพลาสโมเดียม ฟาลซิพารัม (P. falciparum) ซึ่งเคยเป็นสาเหตุหลักมาก่อน โดยผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ร้อยละ 85 เป็นผู้ติดเชื้อ P. vivax ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามที่จะกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทย ดังนั้น เราจึงต้องหาหนทางใหม่ ๆ เพื่อจัดการกับปรสิตชนิดนี้ และกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การใช้ยาทาเฟโนควินควบคู่กับการทดสอบเอนไซม์ กลูโคส-6-ฟอสเฟต-ดีไฮโดรจีเนส (G6PD) จะเป็นแนวทางที่ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายที่วางไว้”
การอนุญาตการใช้ยาทาเฟโนควินในประเทศไทยครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สนับสนุนให้ยาทาเฟโนควินสามารถเข้าถึงผู้ป่วยครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่พบเชื้อมาลาเรียชนิด P. vivax ในอัตราส่วนสูงสุด โดยยาทาเฟโนควินเป็นยาที่ได้รับการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาโดยบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น หรือ GSK และ Medicines for Malaria Venture หรือ MMV และได้รับการอนุญาตให้ใช้เป็นครั้งแรกโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US Food and Drug Administration) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 และสำนักงานบริหารผลิตภัณฑ์รักษาโรคแห่งออสเตรเลีย (Australian Therapeutic Goods Administration) ในเดือนกันยายน 2560
ยาทาเฟโนควิน เป็นยาแบบรักษาหายขาดและสามารถป้องกันไข้กลับจากเชื้อมาลาเรียชนิด P. vivax นับเป็นจุดเด่นที่เหนือกว่ายาพรีมาควิน (Primaquine) ที่ใช้ในปัจจุบัน โดยผู้ป่วยในไทยได้รับคำแนะนำให้ทานยาพรีมาควินติดต่อกันนาน 14 วัน สำหรับยาทาเฟโนควินเป็นยาที่ใช้ครั้งเดียว แต่ก่อนการรับประทานยา ผู้ป่วยต้องผ่านการตรวจภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีหน้าที่ในการปกป้องเซลล์เม็ดเลือดแดง เนื่องจากผู้ป่วยที่มีภาวะขาดเอนไซม์ G6PD อาจแสดงอาการที่ไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรงจากการใช้ยา อาทิ ภาวะซีดหรือโลหิตจางเฉียบพลันจากเม็ดเลือดแดงแตกในระหว่างการรักษา
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีแผนจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการตรวจภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ณ จุดดูแลผู้ป่วยในการรักษาโรคมาลาเรียด้วยยาทาเฟโนควิน ภายใต้ระบบบริการสาธารณสุขไทยในเร็ว ๆ นี้ โดยการสนับสนุนจาก MMV ซึ่งผลการศึกษาจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการขยายการใช้วิธีใหม่ ๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียในประเทศไทย
ดร. เดวิด เรดดีย์ ซีอีโอของ MMV กล่าวว่า “การรักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรียที่มีการกลับมาเป็นไข้ซ้ำ (relapse) เป็นปัญหาทั่วโลก มีค่าใช้จ่ายในระดับสูง และแม้ว่าเราจะประสบความสำเร็จจากการจัดการเชื้อมาลาเรียชนิด P. falciparum ในเอเชียแปซิฟิก แต่กลับพบผู้ป่วยโรคมาลาเรียจากการติดเชื้อ P. vivax ในอัตราเพิ่มขึ้น ดังนั้น การอนุญาตให้ใช้ยาทาเฟโนควินเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นไข้ซ้ำจากเชื้อ P. vivax ในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเนื่องจากเป็นยารักษาโรคที่ใช้เพียงครั้งเดียว จึงเพิ่มโอกาสที่ผู้ป่วยจะรับยาอย่างครบถ้วนมากกว่าต้องทานยาพรีมาควิน 14 วัน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิกประสบความสำเร็จในการกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดสิ้นได้ในเร็ววัน”
GSK มีความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับโรคมาลาเรีย โดยการศึกษาวิจัยและค้นคว้ายาและวัคซีนใหม่ ๆ ในห้องปฏิบัติการของบริษัท เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายด้านสาธารณสุขในระดับโลก ด้วยข้อได้เปรียบของความร่วมมือจากพันธมิตรที่แข็งแกร่งในครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข MMV และ GSK การอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนยาทาเฟโนควินในประเทศไทย นับเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อต่าง ๆ ในโลกที่กำลังพัฒนา ซึ่ง GSK จะมุ่งมั่นในการหาแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาดังกล่าวนี้อย่างทั่วถึงในประเทศไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในระดับโลกที่จะกำจัดโรคมาลาเรียให้สูญสิ้น” นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น ประเทศไทย จำกัด หรือ GSK กล่าวสรุป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit