นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน "ฮาลาล" ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า หลังจากที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน "ฮาลาล" โดยรวบรวมตัวแทนทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการผลิต การแปรรูป โลจีสติก และการส่งออกสินค้าฮาลาล เนื่องจากเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลที่จะเป็นโอกาสของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าอาหารและเกษตรอันดับ 2 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 12 ของโลก แต่ประเทศไทยยังมีการส่งออกอาหารฮาลาลน้อยมาก ในขณะที่ตลาดมุสลิมเป็นตลาดขนาดใหญ่ของโลก หากเราสามารถส่งเสริมทั้งด้านการวิจัย การรับรองมาตรฐานการผลิต การลงทุน การเปิดตลาดส่งออกและโลจีสติก จะเป็นความหวังที่สำคัญของไทย นอกจากนั้น ฮาลาลยังไม่ใช่แค่อาหาร ยังรวมไปถึงคลัสเตอร์อื่น ๆ เช่น การผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ และการบริการอีกด้วย"
ทั้งนี้ ทางสมาคมการค้าและนักธุรกิจมุสลิมได้นำเสนอที่ประชุมถึงขนาดของ Global Halal Economy ว่ามีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นอาหารฮาลาล เติบโตจาก 1,245 ล้านดอลล่าส์ในปี ค.ศ.2016 และคาดการณ์เป็น 1,930 ล้านดอลล่าส์ ในปี ค.ศ.2022 ซึ่งขนาดของตลาดมุสลิม คาดการณ์ว่าจะโตจาก มูลค่า 2,006 ล้านยูเอสดอลล่าส์ในปี ค.ศ.2016 เป็น 3,081 ล้านยูเอสดอลล่าส์ ในปี ค.ศ. 2022 ด้วยอัตราการเติบโต 7.33% และหากพิจารณาการกระจายตัวของประชากรมุสลิมจากทั้งหมด 1,960 ล้านคนในปี ค.ศ. 2020 จะอยู่ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก 61.7% กลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ 19.8% อเมริกาใต้ 15.5% ยุโรป 2.7% อเมริกาเหนือและใต้ 0.3%
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้วิเคราะห์โอกาสในการเปิดตลาด โดยเจาะจงประเทศเป้าหมายที่มีศักยภาพในการนำเข้าสำคัญที่น่าสนใจ โดยไล่เรียงจากกลุ่มประเทศ Gulf Cooperation Council (GCC) Countries มีประชากรมุสลิม 54 ล้านคน ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรต ซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง ก่อนขยายไปยังประเทศอื่น และภูมิภาคเอเชียกลาง มีประชากร 100 ล้านคนนั้น มีประเทศอุซเบกิสถานเป็นประเทศแรก เพื่อเชื่อมโยงไปยังระเทศอื่น ๆ อีก 5 ชาติ ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียน มีประชากรมุสลิม 240 ล้านคนนั้น มีตลาดที่สำคัญทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย
นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์การทำงานและการกำหนดโครงสร้างการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการเฉพาะกิจที่จำเป็น ได้แก่ คณะกำหนดนโยบาย คณะส่งเสริมการลงทุน และคณะส่งเสริมการค้า เป็นต้น ซึ่งจะเร่งรัดการทำงานให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit