กระแสการเรียนออนไลน์ หรือ Study from home ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บรรยากาศของมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เคยครึกครื้นดูจะเงียบเหงาลง น้องๆ นักศึกษาหลายคนก็คงจะคิดถึงเพื่อนๆ และบรรยากาศการเรียนในมหาวิทยาลัยอยู่ไม่น้อยเช่นกัน แต่ช่วงเวลาแห่งการปรับตัวก็มักจะพาสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเสมอ บทความนี้จะพาไปดู 10 กิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทั้งจากทางฝั่งผู้เรียน อาจารย์ และบุคลากรในมหาวิทยาลัย จะเกิดอะไรที่น่าสนใจขึ้นบ้าง ไปดูกันเลย
- เรียนในห้องออนไลน์ การเรียนรูปแบบออนไลน์เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่คุ้นชินสำหรับใครหลายๆ คน แต่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศไปอีกรูปแบบหนึ่ง หลายคนค้นพบช่องทางการติดต่อสื่อสารกันผ่าน Zoom, Microsoft Team, Google Hangouts, Webex เป็นต้น ซึ่งมีฟังก์ชันเด็ดๆ ให้ลองเล่นมากมาย นอกจากนี้การปรับตัวโดยการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียน หรือทำงานออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ ยังนับว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
- พัฒนาศักยภาพตัวเอง ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ อีกหนึ่งกิจกรรมที่มีประโยชน์ในช่วงที่ทุกคนกักตัวอยู่ที่บ้านก็คือการพัฒนาศักยภาพของตัวเองผ่านการเรียนในรูปแบบคอร์สออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้พัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ ที่สนใจ เช่น การทำธุรกิจ เทคโนโลยี การจัดการข้อมูล ภาษา เป็นต้น โดยเว็บไซต์การเรียนออนไลน์ที่น่าสนใจ ได้แก่ coursera.org, alison.com, edx.org
- เปิดโลกท่องเที่ยวแบบออนไลน์ ใครว่าช่วงกักตัวแบบนี้จะออกไปเที่ยวไหนไม่ได้ ขอแนะนำให้รู้จักกับเว็บไซต์ที่สามารถพาทุกคนออกไปเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวรอบโลก โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่าง artsandculture.withgoogle.com ที่รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยวสุดอันซีนในสหรัฐอเมริกาอย่าง ภูเขาไฟฮาวาย อุทยานแห่งชาติไบรซ์แคนยอน เกาะทอร์ทูก้า เป็นต้น หรือใครที่ชอบท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ตอนนี้ก็มีเว็บไซต์ louvre.fr/en/visites-en-ligne ที่สามารถพาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ประเทศฝรั่งเศส ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- เอาเวลาว่างจากการเดินทางมาอ่านหนังสือ ทำงานอดิเรก ช่วงเวลาการเรียนออนไลน์แบบนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่จะได้เอาเวลาว่างจากที่เคยใช้ไปกับการเดินทาง มาอ่านหนังสือที่เคยอ่านค้างไว้ หรือทำงานอดิเรกที่สนใจ
- แบ่งเวลาทำเพื่อสังคม ในรูปแบบออนไลน์ก็ได้ นอกจากการพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ แล้ว การทำเพื่อสังคมก็สามารถทำได้ในรูปแบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น การอ่านหนังสือเพื่อคนตาบอด ผ่านแอปพลิเคชัน Read for the Blind อาสาทำสื่อการเรียนให้กับนักศึกษาตาบอดในมหาวิทยาลัย ผ่านแอปพลิเคชัน Guidelight หรือ อาสาเป็นพี่เลี้ยง ทำหน้าที่รับฟัง ชวนคุย ชวนคิดกับน้องๆ ผ่านแอปพลิเคชัน มูลนิธิยุวพัฒน์ เป็นต้น
- พัฒนาฝีมือทำอาหารในช่วงกักตัว ช่วงเวลากักตัวแบบนี้ หลายคนใช้เวลาไปกับการพัฒนาฝีมือทำอาหาร อีกทั้งยังปลอดภัยกว่าการออกไปซื้ออาหาร หรือสั่งอาหารมาทานด้วย นอกจากนี้ยังสามารถเอามาอวดกันในวีดีโอคอลกับเพื่อน เป็นการทานอาหารร่วมกันแบบ Social distancing ได้อีกด้วย
- ลุก ขยับ ออกกำลังกาย อีกหนึ่งกิจกรรมที่ควรต้องทำเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลากักตัวอยู่บ้านแบบนี้ คือการออกกำลังกาย เสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการควบคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินไปในช่วงนี้ด้วย ถึงทุกอย่างจะดู Go Online ไปหมด แต่ก็อย่าลืมพักจากหน้าจอ จัดสรรเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ หรืออาจใช้วิธีกำหนดเวลางดเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน เป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ปรับการทำงานของดวงตาเข้าสู่การพักผ่อน
- เตรียมการสอนรูปแบบออนไลน์ ให้ดึงดูดใจนักศึกษา ใครว่านักศึกษาต้องปรับตัวในการเรียนรูปแบบออนไลน์อยู่ฝ่ายเดียว อาจารย์เองก็ต้องเตรียมพร้อมการสอนผ่านระบบออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ นับเป็นความท้าทายของอาจารย์เช่นเดียวกันที่ต้องสอนนักศึกษาให้ได้รับความรู้ และหาวิธีการประเมินผู้เรียนให้ได้เช่นเดียวกับการเรียนในรูปแบบปกติ
- เปลี่ยนมหาวิทยาลัย เป็นศูนย์พิเศษเพื่อผู้ป่วย ในยามที่บรรยากาศมหาวิทยาลัยเงียบเหงา จากการที่นักศึกษาเดินทางกลับบ้านเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ ถือเป็นโอกาสที่มหาวิทยาลัยจะได้ทำเพื่อสังคมได้ เช่นเดียวกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่แปลงหอพักนักศึกษา ที่ว่างอยู่ในขณะนี้ เป็นโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในระยะเฝ้าสังเกตอาการ และระยะพักฟื้น ที่ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลต่างๆ นับเป็นการเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ และเป็นการช่วยสังคมในภาวะวิกฤตอีกด้วย
- ผลิตนวัตกรรมการแพทย์สุดเจ๋ง ช่วยสังคม นอกจากภารกิจเปลี่ยนหอพัก เป็นโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจของ สจล.ยังมีการตั้งศูนย์นวัตกรรมสู้โควิด-19 (KMITL FIGHT COVID-19) เพื่อพัฒนานวัตกรรมออกมาช่วยบุคลากรทางการแพทย์ โดยล่าสุด ทีมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสามารถผลิตเครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขนาดเล็ก (Mini Emergency Ventilator) ช่วยผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจในภาวะฉุกเฉิน อีกทั้งเตรียมส่งนวัตกรรมทางการแพทย์มากมายให้แก่โรงพยาบาลที่มีความต้องการ ไม่ว่าจะเป็น ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative Pressure Room) ตู้ Swab Test ปลอดเชื้อ หุ่นยนต์ขนส่งเวชภัณฑ์ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วย UV-C เป็นต้น
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สถานการณ์การเรียนออนไลน์แบบนี้ ไม่เพียงแต่นักศึกษาที่ต้องปรับตัว แต่อาจารย์ และบุคลากรมหาวิทยาลัย ต่างก็ต้องพยายามปรับตัว เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา นอกจากนี้ สจล. ยังถือโอกาสที่นักศึกษาเรียนออนไลน์จากที่บ้าน ปรับปรุงทัศนียภาพมหาวิทยาลัย รวมถึงปรับปรุงระบบการเรียนการสอนออนไลน์ให้พร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ภายใต้โครงการ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ไร้ขีดจำกัด (KMITL 60 th Year: Go Beyond the Limit) ทั้งนี้ สจล. มั่นใจว่าการปรับตัวครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน และเมื่อวิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไป เราจะมีภูมิคุ้มกันติดตัวที่ดีกว่าเดิม
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/kmitlofficial หรือเว็บไซต์ www.kmitl.ac.th