ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เครื่องบินของกลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย 282 ลำ จำเป็นต้องหยุดให้บริการชั่วคราว และจอดอยู่ในสนามบินทั่วเอเชีย คุณอยากรู้หรือไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเครื่องบินระหว่างการจอดและรอที่จะกลับมาให้บริการอีกครั้ง
“ฝูงบินของแอร์เอเชียแม้ว่าจะต้องจอดพักการให้บริการ แต่เครื่องบินเหล่านี้ยังคงต้องได้รับการดูแลอย่างพิถีพิถันเพื่อรักษาสมรรถภาพของเครื่องยนต์และชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งทีมวิศวกรอากาศยานของเราได้ทำการดูแลเป็นอย่างดีให้มั่นใจได้ว่าเครื่องบินจะอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด และพร้อมทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้าอีกครั้ง” บัญญัติ หรรษกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม กลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย กล่าว
แอร์เอเชียได้ดำเนินการตามขั้นตอนการจอดเครื่องบินระยะยาวตามคู่มือของแอร์บัส บริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน ด้วยขั้นตอนการปฏิบัติที่เข้มงวด เพื่อคงสภาพและรักษาความสมบูรณ์ของเครื่องบินระหว่างที่ไม่ได้บินให้บริการและจอดพักเป็นระยะเวลานาน
การดูแลรักษาฝูงบิน
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ทีมวิศวกรและทีมซ่อมบำรุงอากาศยานของกลุ่มแอร์เอเชียจะติดตามดูแลเครื่องบินในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ คำถามที่เกิดขึ้นเป็นคำถามแรกคือ เครื่องบินทั้ง 282 ลำนั้นจอดอยู่ที่ไหนบ้าง ฐานปฏิบัติการบินที่ใหญ่ที่สุดของเรานั้นอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์และกรุงเทพฯ แต่ทั้งท่าอากาศยาน Kaula Lumpure Internatioanl Airport 2: Klia2 และท่าอากาศยานดอนเมือง ก็ยังไม่มีพื้นที่จอดเพียงพอสำหรับฝูงบินทั้งหมดของเรา
“ที่กัวลาลัมเปอร์ เราแก้ปัญหาด้วยการนำเครื่องบินบางส่วนไปจอดไว้ที่ลานจอดคลังสินค้า แทนการจอดไว้ที่ฐานปฏิบัติการบิน Klia2 ขณะที่กรุงเทพฯ ก็ไม่มีพื้นที่จอดเครื่องบินเพียงพอเช่นเดียวกัน ทางการท่าอากาศยานฯ จึงได้จัดสรรให้ทางวิ่งเครื่องบินกลายมาเป็นลานจอดเครื่องบินชั่วคราว อีกทั้งเรายังได้นำเครื่องบินของเราไปจอดที่ฐานปฏิบัติการบินอื่นๆ ได้แก่ ท่าอากาศนานาชาติยานภูเก็ต และท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา”
“เราวางแผนและกำหนดระยะเวลาการจอดเครื่องบินแต่ละลำ เนื่องจากระยะเวลาจอดที่ต่างออกไปจะมีขั้นตอนและรายการการซ่อมบำรุงที่ต่างกัน เช่น เครื่องบินจอดน้อยกว่า 1 เดือน หรือจอดระหว่าง 1-6 เดือน หรือ 6-12 เดือน ซึ่งเครื่องบินของเราส่วนใหญ่จะจอดระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือน นอกจากนี้เรายังต้องมีเครื่องบินที่เตรียมไว้สำหรับการปฏิบัติภารกิจต่างๆ การช่วยเหลือคนกลับประเทศ การขนส่งสิ่งของและการเช่าเหมาลำ”
การดูแลภายนอกตัวเครื่องบิน
นอกจากการจอดเครื่องบินในสถานที่ที่เหมาะสม และกำหนดระยะเวลาการจอดเป็นที่เรียบร้อยก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ต้องใช้คนจำนวนมาก ได้แก่ การคลุมเครื่องบินภายนอกเพื่อป้องกันสภาพอากาศ
สำหรับชิ้นส่วนภายนอกตัวเครื่องบินที่เป็นช่องทางเข้าออกของกระแสอากาศหรืออุปกรณ์เครื่องวัดการบินต่างๆจะถูกปิดคลุมด้วยอุปกรณ์ที่ได้รับการรับรองจากบริษัทผู้ผลิต เพื่อป้องกันฝุ่น แมลง นก หรือสิ่งแปลกปลอมที่อาจเข้าไปสร้างความเสียหายให้กับระบบการทำงานของเครื่องบินหรือเครื่องยนต์ได้ ซึ่งส่วนที่จะต้องถูกคลุม ได้แก่ ส่วนหน้าของเครื่องยนต์ ช่องทางระบายอากาศของ Auxiliary Power Unit’s: APU, อุปกรณ์เครื่องวัดการบินเช่น pitot probes หรือ static ports หรือเสาส่งสัญญาณต่างๆ รอบตัวเครื่องบิน รวมไปถึงชุดฐานล้อจะถูกห่อหุ้มเพื่อป้องกันการสึกกร่อนหรือเกิดสนิมขึ้นได้
ทีมวิศวกรอากาศยานจะเข้าตรวจสอบเครื่องบินทุกวัน เพื่อตรวจดูสภาพภายนอกของเครื่องบินตามจุดต่างๆ เช่น การรั่วซึมของน้ำมันเครื่อง หรือของเหลวจากระบบไฮดรอลิคจากตัวเครื่องบิน ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลความเรียบร้อยของการคลุมเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยที่สุด
นอกจากการตรวจดูความเรียบร้อยประจำวันแล้ว ความสะอาดภายในห้องโดยสาร การดูแลระบบการทำงานต่างๆ และชิ้นส่วนของเครื่องบินก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแลไม่แพ้กัน เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่อาจติดค้างหรือเกิดขึ้นกับเครื่องบินที่จอดทิ้งไว้เป็นเวลานาน
“การตรวจเช็คประจำวันถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าธรรมชาติจะนำพาสิ่งใดมาบ้าง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหลังจากที่เราหยุดบินไปได้ไม่นาน ทีมงานก็ตรวจพบนกเข้ามาทำรังอยู่ใต้ปีกเครื่องบินรุ่น330 ที่จอดอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง”
“ทั้งนก ผึ้ง และแมลงที่เข้ามาทำรังในตัวเครื่องบินผ่านช่องต่างๆที่เปิดไว้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสายการบินทั่วโลก ไม่ใช่ปัญหาที่ผิดปกติอะไร ซึ่งเมื่อพบแล้วเราก็ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน แจ้งหน่วยงานท่าอากาศยานและคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการพาแขกที่ไม่ได้รับเชิญออกจากตัวเครื่องบิน ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่าจะไม่มีสัตว์ใดๆ เข้ามาทำรังหรือสร้างความเสียหายกับเครื่องบินของเราได้”
เตรียมความพร้อมเครื่องบิน
เริ่มจากการตรวจเช็คลมยางให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ไม่รั่วไม่ซึม หรือแบน ซึ่งโดยปกติแล้วทีมที่ดูแลเครื่องบิน จะต้องหมั่นลากเครื่องบินเดินหน้า ถอยหลัง เพื่อปรับความดันลมยางและป้องกันการกดทับของยางด้านเดียวเป็นระยะเวลานาน
สำหรับเครื่องยนต์ก็จะมีการสตาร์ทเครื่องยนต์ และ APU อยู่เป็นระยะตามข้อปฏิบัติในคู่มือ เพื่อให้เครื่องยนต์อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา
ด้านการเตรียมความพร้อมอื่นๆ เครื่องบินที่จอดพักเป็นเวลานาน บางครั้งต้องมีการปรับตั้งอุปกรณ์ต่างๆด้วย เช่น การถอดแบตเตอร์รี่ การปรับเครื่องบินให้อยู่ใน “Ditching Mode” เพื่อปิดวาล์ว ประตูหรือช่องทางต่างๆของเครื่องบิน ซึ่งจะทำให้ไม่มีอากาศจากภายนอกเข้าสู่ห้องโดยสารได้ รวมถึงการปลดระบบทำความร้อนของ Air Data Probe และกระจกห้องนักบิน เพื่อป้องกันการหลอมละลายของ Air Data Probe Cover และมีผลต่อการทำงานของ Sensor อีกด้วย
สำหรับกลุ่มสายการบินที่มีการให้บริการหลายร้อยเที่ยวบินต่อวัน การหยุดให้บริการชั่วคราวในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ทำความสะอาดเครื่องบินด้วยมาตรการที่เข้มข้นทุกตารางนิ้วและยกระดับการดูแลรักษาเครื่องบินรวมถึงภายในห้องโดยสาร ชิ้นส่วนบนเครื่องบินที่สามารถถอดออกได้ในห้องโดยสารจะถูกเปิดออกเพื่อทำความสะอาดทั้งหมด ทั้งพื้นที่ส่วนครัวด้านหลังที่พนักงานต้อนรับใช้สำหรับเตรียมอาหาร ห้องน้ำ ห้องนักบิน และแผงหน้าปัดในห้องนักบิน ส่วนพรม ม่านบังแสง รวมถึงพื้นผิวสัมผัสต่างๆ เช่น ที่วางแขน ถาดหน้าที่นั่ง จะถูกเช็ดล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อให้สะอาดและพร้อมให้บริการ
“การดูแลรักษาฝูงบินทั้งหมดของเราไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าเครื่องบินจะหยุดให้บริการแต่การทำงานของทีมงานทั้งหมดยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องไม่มีวันหยุด ซึ่งต้องขอบคุณทีมงานวิศวกรอากาศยาน ทีมงานซ่อมบำรุง และทีมงานภาคพื้นที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมมือกันทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนในช่วงเวลานี้
อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดจบลง เราอยากให้ทุกคนมั่นใจได้ว่าแอร์เอเชียพร้อมกลับมาให้บริการผู้โดยสารอีกครั้งอย่างมีคุณภาพ เพราะระหว่างนี้เราได้ดูแลและตรวจสอบความพร้อมของเครื่องบินทุกลำให้อยู่ในสภาพดีที่สุดที่จะกลับมาบินได้อีกครั้ง โดยความปลอดภัยและสุขอนามัยของผู้โดยสารและพนักงานของเราเป็นสิ่งแรกที่เราให้ความสำคัญ” บัญญัติ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit