แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สสจ.นครพนม เตือนภัย ระวัง“โรคอาหารเป็นพิษ”

14 Jul 2020

นายแพทย์ธราพงษ์ กัปโก นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม แจ้งว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้รับรายงานโรคที่ต้องเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2563) จากสถานบริการเครือข่ายการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา โดยสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ ประกอบด้วย โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคปอดบวม โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่ง “โรคอาหารเป็นพิษ” เกิดได้ในทุกกลุ่มอายุ ความรุนแรงของโรคขึ้นกับชนิดของเชื้อโรค สารพิษที่ได้รับบางชนิดอาจทำให้เสียชีวิตได้ การเกิดโรคอาหารเป็นพิษมักเกิดได้ง่ายและบ่อยครั้ง เมื่อเกิดการระบาดของโรคมักเกิดเป็นกลุ่มใหญ่ มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค (แบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ พืชพิษ สารพิษหรือสารเคมี) ร่วมกัน โดยการปนเปื้อนสามารถเกิดได้จากทุกขั้นตอน เช่น การปนเปื้อนเชื้อจากวัตถุดิบ การปรุง และการเก็บอาหาร ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ    

แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”  สสจ.นครพนม เตือนภัย ระวัง“โรคอาหารเป็นพิษ”

โรคอาหารเป็นพิษ จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อุจจารุเป็นน้ำหรือเป็นมูกเลือด ปวดมวนท้อง เป็นไข้ สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดพิษจะพบอาการทางระบบประสาท เช่น เดินเซ สับสน ประสาทรับรู้สัมผัสผิดปกติ ประสาทหลอน และช้า การรักษาเบื้องต้น ปฏิบัติได้โดยการดื่มน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์    

การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” กล่าวคือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ดื่มน้ำต้มสุก (ต้มให้เดือดเป็นเวลา 20 นาที เพื่อทำให้เชื้อโรคตาย) อาหารค้างมื้อ หรือเก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร ก่อนหยิบจับอาหาร ก่อนหยิบจับวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงประกอบอาหาร หลังขับถ่าย หลังสัมผัสสิ่งสกปรก และกาiรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร ดื่มน้ำแข็งที่สะอาดมีเครื่องหมาย อย. วัตถุดิบ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบอาหารก่อนรับประทาน    

อนึ่ง รายงานข่าวจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สถานการณ์โรคติดต่อทางอาหารและน้ำในปี 2563 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยด้วย 5 โรคสำคัญที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 414,545 ราย เสียชีวิต 2 ราย โรคอาหารเป็นพิษ 40,973 ราย โรคบิด 1,108 ราย โรคไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย 220 ราย และอหิวาตกโรค 2 ราย โดยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสโปรโตซัว หนอนพยาธิฯ ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดท้อง ถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า อุจจาระอาจพบเยื่อมูกและมีเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ในบางรายมีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้  ดังนั้น การป้องกันคือ ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก ในส่วนอาหารที่ปรุงประกอบไว้นานแล้ว ขอให้สำรวจก่อน หากมีกลิ่น รส  หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ ส่วนอาหารที่มีกลิ่น รส หรือรูปร่างไม่เปลี่ยนแปลงควรอุ่นให้ร้อนทั่วถึงก่อนรับประทาน    

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) จึงขอแนะนำให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหาร การปรุงอาหาร ให้คำนึงถึงความสะอาด ปลอดโรค ปลอดภัย ปราศจากการปนเปื้อน อาหารควรปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำและน้ำแข็งที่สะอาด (มีเครื่องหมาย อย.) เก็บถนอมอาหารอย่างถูกวิธี และก่อนหยิบจับอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และหากมีอาการข้างต้น สามารถช่วยเหลือเบื้องต้น โดยให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบไปพบแพทย์ และควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เพื่อช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวได้เร็ว ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังอยู่ในร่างกาย หากใช้ยาปฏิชีวนะ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422