ดีไอทีพี การ์ดไม่ตกเปิดกลยุทธ์ดึงตัวเลขส่งออกไทย สร้างผู้ส่งออกอัจฉริยะ ในยุค New Normal ทางรอดธุรกิจไทยด้วยเครือข่ายครอบครัว Smart Exporter

13 Jul 2020

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) เผยแนวทางการฟื้นฟูธุรกิจส่งออกในยุค New Normal ด้วยการส่งเสริมในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยี การผลักดันสินค้าไทยให้ก้าวเข้าสู่ช่องทางออนไลน์  การพัฒนาและบ่มเพาะผู้ประกอบการผ่านหลักสูตรฝึกอบรม รวมทั้งการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายธุรกิจ โดยล่าสุดได้เปิดตัวโครงการ “ผู้ส่งออกอัจฉริยะ: Smart Exporter” ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการรวมตัวทางธุรกิจ เพื่อลดช่องว่างทางการค้าและสร้างทางรอดให้กับผู้ประกอบการ พร้อมชี้สถานการณ์การค้าโลกที่เริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น

ดีไอทีพี การ์ดไม่ตกเปิดกลยุทธ์ดึงตัวเลขส่งออกไทย สร้างผู้ส่งออกอัจฉริยะ ในยุค New Normal ทางรอดธุรกิจไทยด้วยเครือข่ายครอบครัว Smart Exporter

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญช่วงยากลำบากที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มหดตัวสูงสุดในรอบหลายทศวรรรษ แม้ล่าสุดสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะสามารถควบคุมได้ดีจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ธุรกิจส่งออกของไทยเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กรมยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยในช่วงที่ผ่านมานั้น กรมได้ช่วยส่งเสริมธุรกิจส่งออกและผู้ประกอบการในด้านที่สำคัญ อาทิ

  • การส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการติดต่อสื่อสารกับคู่ค้าต่างประเทศ และเปิดโอกาสให้ได้ใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะที่สำคัญในการทำการตลาดผ่านทางโซเชียลมีเดียให้มากขึ้น เพื่อเป็นการรักษาตลาดเก่าให้ยังคงอยู่และดำเนินการไปได้อย่างติดขัดให้น้อยที่สุด อาทิ กิจกรรม Business Matching Online และ Multimedia Online Virtual Exhibition เป็นต้น
  • การผลักดันสินค้าไทยให้ก้าวเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ ด้วยการผนึกกำลังทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องด้านการทำการค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ e-bay , Shopee , Lazada , Thailandpostmart.com เพื่อเพิ่มพื้นที่การขายสินค้าไทย ให้ก้าวสู่การขายออนไลน์ในมาร์เก็ตเพลสนานาชาติ
  • การพัฒนาผู้ประกอบการผ่านหลักสูตรฝึกอบรมและสัมมนาที่ทันต่อสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน ทั้งออนไลน์ควบคู่ออฟไลน์ โดยเริ่มตั้งแต่การปูพื้นฐาน ไปจนถึงการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ
  • การส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลกันระหว่างหน่วยงานและภาคธุรกิจการค้า

นายสมเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในบริบทการค้าในปัจจุบัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมากรมและหน่วยงานพันธมิตร เช่น สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และธนาคารชั้นนำต่างๆ ได้มีการทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การดำเนินงานส่งเสริมธุรกิจและผู้ประกอบการเป็นไปอย่างบูรณาการ ตอบโจทย์กับสถานการณ์และการเติบโตของหลาย  ภาคส่วนมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก มีการสร้างเครือข่ายระหว่างกัน เพื่อให้สามารถเติบโตพร้อมกัน เกิดการสร้างอำนาจต่อรองระหว่างคู่ค้า รวมทั้งสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกันในหลายมิติอีกด้วย

ด้าน นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กล่าวว่า  สถาบัน NEA เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการให้แข็งแกร่ง รวมถึงเสริมสร้างความรู้และทักษะ แนะนำวิธีการปฏิบัติที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการส่งออกนั้น จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “ผู้ส่งออกอัจฉริยะ: Smart Exporter” มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันคือรุ่นที่ 19 โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างฐานการส่งออกให้กับ SMEs ไทย เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับการค้าระหว่างประเทศของไทย เนื้อหาของหลักสูตรจะครอบคลุมองค์ความรู้และทักษะการบริหารจัดการด้านการส่งออกที่สำคัญอย่างครบวงจร เพื่อนำไปสู่การปรับกลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การฝึกอบรมจะประกอบไปด้วยภาคทฤษฎี และการให้คำปรึกษาเชิงลึก โดยมีการปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในยุค New Normal ได้แก่

  • International Trade Subjects อาทิ Digital Transformation, Branding in Practice for Global Market, การคำนวณต้นทุนและการตั้งราคาเพื่อการส่งออก, E-Commerce และ Online Marketing เพื่อการค้าระหว่างประเทศ, การวิเคราะห์ส่วนผสมการตลาดและการตลาดเพื่อการส่งออก, Logistics & Supply Chain, Mindset สู่การเป็น New Normal Smart Exporter และการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้เศรษฐกิจกระแสใหม่ เป็นต้น
  • Active Learnings อาทิ การแชร์ประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจจาก Smart Exporter รุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ และการให้คำปรึกษาเชิงลึกจากทูตพาณิชย์ไทยประจำต่างประเทศ เป็นต้น

สำหรับโครงการดังกล่าวจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ซึ่งจะใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 15 วัน ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ (13 ก.ค. – 3 ส.ค. 63)  ซึ่งจะช่วยบ่มเพาะให้ผู้ประกอบการจะได้รับความรู้และสามารถต่อยอดธุรกิจให้ก้าวเข้าสู่ระดับโลกได้ โดยการเรียนผ่านระบบออนไลน์นั้นไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาทักษะทางด้านธุรกิจของผู้ประกอบการไทย นอกจากนั้น ผู้ประกอบการที่จบหลักสูตร จะได้รับการผลักดันให้เกิดการค้าระหว่างประเทศจริงผ่านกิจกรรมต่อยอดต่างๆของกรม อาทิ งานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ การเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active และการเข้าร่วมกับคณะผู้แทนการค้า (Business Matching) นางอารดา กล่าวเพิ่มเติม

นางพรรณี ชิตรัตฐา ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มชาผสมโสม แบรนด์ มิโกชิ และเคยเข้าร่วมโครงการ Smart Exporter รุ่นที่ 16 กล่าวว่า จากที่ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมโครงการนี้ในรุ่น 16 นอกเหนือจากความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมที่แตกต่างจากที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งออก การตลาด  แล้วยังได้รับความรู้เรื่องการตลาดด้านออนไลน์ การนำเครื่องมือในการบริหารจัดการ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และที่สำคัญการได้สร้างเครือข่ายที่หลากหลายทางธุรกิจทั้งจากผู้เข้าอบรมในรุ่นเดียวกัน รุ่นพี่รุ่นน้องท่านอาจารย์วิทยากรและสถาบันต่างๆ ช่วยส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวและความคล่องตัวทางธุรกิจเพิ่มขึ้น

สำหรับตลาดหลักที่ดำเนินการอยู่เป็นตลาดในทวีปแอฟริกา และประเทศอูกันดา ซึ่งครอบครัว Smart Exporter ทำให้เกิดการรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมการค้าไทย-อูกันดาขึ้น และได้มีการเชิญชวนรุ่นน้องโครงการ Smart Exporter และสมาชิกของสมาคมซึ่งเป็น SME ที่สนใจในตลาดแอฟริกา ไปสำรวจตลาดและเข้าร่วมการออกงานแสดงสินค้า The 27th Uganda International Trade Fair ที่จัดขึ้นโดยการสนับสนุนของรัฐบาลประเทศอูกันดา และในครั้งนั้นทำให้มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งสามารถต่อยอดทางธุรกิจกับตลาดใหม่นี้ได้ อีกทั้งยังสร้างเสริมภาพลักษณ์ให้กับสินค้าไทย จะเห็นได้ว่า หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ Smart Exporter และได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว Smart ช่วยให้เกิดการซื้อขายและสนับสนุนการค้าในระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง ช่วยกันแก้ปัญหาและลดต้นทุนของสินค้าและบริการ พึ่งพากันไปค้าขายสินค้าได้ในตลาดต่างประเทศ อย่างไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป

หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ได้ที่ nea.ditp.go.th หรือ www.ditp.go.th และ www.facebook.com/nea.ditp  หรือ 1169 กด 1