25 ปีแห่งการสวรรคต “สมเด็จย่า” สืบสานพระราชปณิธานจาก “หลักคำสอน” ที่ยังมีชีวิต “คนเราทุกคนต้องปรับตัว ถ้าปรับก็ไม่มีเรื่อง ฉันเองก็ต้องปรับตัว”

09 Jul 2020

แม้ว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า จะเสด็จสวรรคตนานกว่า 25 ปีแล้วก็ตามพระราชดำรัสของพระองค์ยังคงเป็นความจริงที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตทุกยุคสมัย โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนต้องปรับตัวและหันมาใช้ชีวิตวิถีใหม่ (new normal) อันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อดำเนินชีวิตในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

25 ปีแห่งการสวรรคต “สมเด็จย่า” สืบสานพระราชปณิธานจาก “หลักคำสอน” ที่ยังมีชีวิต “คนเราทุกคนต้องปรับตัว ถ้าปรับก็ไม่มีเรื่อง ฉันเองก็ต้องปรับตัว”

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตมนุษย์ทั่วโลกแบบไม่มีใครได้ทันตั้งตัว ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวแบบกะทันหัน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เองก็ต้องปรับตัวให้ตอบรับต่อความปกติใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมหากว่าเจอพายุอีกครั้ง แม้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะปรับแนวทางการดำเนินงานขององค์กรให้สอดรับกับเหตุการณ์ปัจจุบันมากขึ้น แต่ยังคงยึดแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานของสมเด็จย่าเป็นเข็มทิศในการทำงานพัฒนาและธุรกิจเพื่อสังคมเช่นเดิม

ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา นอกจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนต่างๆ ในหลายพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว เรายังทำหน้าที่เผยแพร่คำสอนของสมเด็จย่าเพื่อเป็นหลักคิดในการดำเนินชีวิต ที่เรียบง่ายและเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม

โดยในปี 2563 นี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคตครบ 25 ปี คนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า 30 ปีอาจจะจดจำเรื่องราวของพระองค์ได้ไม่มากนัก หรือไม่ทันได้ชื่นชมพระบารมี บางคนอาจจะเคยได้ยิน ได้ฟังพระราชดำรัส และพระราชจริยวัตรอันเรียบง่ายของสมเด็จย่ามาบ้าง ซึ่งล้วนตั้งอยู่บนหลักของ “ความจริง” ที่จับต้องได้ เป็นประโยชน์ และร่วมสมัย พระราชดำรัสที่สมเด็จย่าทรงเคยรับสั่งไว้และผมคิดว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ ทั่วโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คือ 'คนเราทุกคนต้องปรับตัว ถ้าปรับก็ไม่มีเรื่อง ฉันเองก็ต้องปรับตัว’ เป็นอีกหนึ่งคำสอนสำคัญที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตในขณะนี้ได้

ทั้งนี้ ในวาระครบรอบ 25 ปีแห่งการสวรรคต ในวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2563 นี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับ จังหวัดเชียงราย จัดพิธีบำเพ็ญกุศลและพิธีถวายขันดอกแม่ฟ้าหลวงขึ้น เป็นการถวายความเคารพอย่างสูงสุดตามประเพณีล้านนา ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง หรือที่ชาวเชียงรายรู้จักในชื่อ ไร่แม่ฟ้าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

โดยจะเปิดให้หน่วยงานราชการและเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันถวายสักการะและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ“สมเด็จย่า” ตั้งแต่เวลา 09.00–17.00 น. ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง หรือที่ชาวเชียงรายรู้จักในชื่อ ไร่แม่ฟ้าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สถานที่ซึ่งไม่เพียงมีความหมายต่อชาวไทยภูเขาเท่านั้น แต่ยังเคียงคู่จังหวัดเชียงรายมายาวนาน ด้วยเป็นหลักฐานแห่งพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่าที่ทรงห่วงใยทุกข์สุขของพสกนิกรโดยไม่ทรงแบ่งแยกเชื้อชาติหรือศาสนา

ในวันดังกล่าว โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ยังเปิด พระตำหนักดอยตุง หอแห่งแรงบันดาลใจ สวนแม่ฟ้าหลวง สะพานเดินเรือนยอดไม้ ( Doi Tung Tree Top Walk) สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง (ดอยช้างมูบ) และ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่เก็บค่าบำรุง ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ด้วย โดยมีการจัดมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามมาตรฐานของภาครัฐอย่างเข้มงวด

ข้อมูลเพิ่มเติม

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นพระบรมราชชนนีของพระมหากษัตริย์ไทยสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) และทรงเป็นสมเด็จพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นโดย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ได้ทรงงานอย่างทุ่มเทเพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกล พระองค์ทรงตระหนักดีถึงความยากลำบาก การขาดโอกาสในชีวิต รวมถึงความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจึงมีบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเข้าไปร่วมตรวจรักษาผู้ที่เจ็บป่วยด้วย และทรงนำเครื่องนุ่งห่ม อาหาร สิ่งของที่จำเป็น และของเล่นสำหรับเด็กเข้าไปพระราชทานให้แก่คนในพื้นที่ ในสายตาของชาวไทยภูเขา พระองค์เปรียบเสมือนเสด็จมาจากฟากฟ้าเพื่อปัดเป่าความทุกข์ยาก เขาเหล่านั้นจึงถวายพระสมัญญา “แม่ฟ้าหลวง” สะท้อนถึงความเคารพรักบูชาจากหัวใจชาวไทยภูเขาทุกคน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงงานอย่างต่อเนื่องตลอดพระชนม์ชีพเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนที่ยากไร้และชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จวบจนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 พระชนมายุ 95 พรรษา

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ยกย่องให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ประจำปี พ.ศ. 2543 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นเพื่อส่วนรวมในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ การพัฒนามนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม

HTML::image(
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit