สศก. เฉลิมพระเกียรติ ร.10 ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด เปิดตัวโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดิน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

10 Jul 2020

สศก. เฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 เปิดตัวโครงการ แรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดิน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างทางรอด เสริมภูมิคุ้มกัน ให้ผู้ได้รับผลกระทบโควิด 19 เปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ต่อยอดพัฒนาภาคเกษตรไทยในอนาคต ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สศก. เฉลิมพระเกียรติ ร.10 ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด เปิดตัวโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดิน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

วันนี้ (10 กรกฎาคม 2563) นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้มีนโยบายเพื่อรองรับกลุ่มแรงงานและผู้ว่างงาน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้ต้องกลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดกว่า 40,000 คน โดยทุกภาคส่วนต่างร่วมกันหามาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอยู่ของประชาชนในห้วงเวลาดังกล่าว อาทิ กระทรวงแรงงาน เน้นมาตรการรองรับสถานการณ์ว่างงาน รวมไปถึงกระทรวงการคลังที่อัดฉีดเม็ดเงินช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อสร้างโอกาสให้แรงงานกลับเข้าสู่ระบบ สามารถสร้างงานสร้างอาชีพ มีอาชีพ และมีรายได้ดำรงชีพ จุนเจือครอบครัวอย่างปกติสุข

ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการ ได้เน้นย้ำถึงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งนอกจากจะมีมาตรการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 15,000 บาทแล้ว ยังได้มีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มแรงงานกลับคืนถิ่นได้รับผลกระทบรวมถึงผู้ว่างงาน ที่สนใจปรับเปลี่ยนอาชีพเข้าสู่ภาคการเกษตร โดยได้มอบหมาย สศก. จัดทำโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดิน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้โครงการ “พัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจการเกษตรอาสาประจำศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร” โดยอบรมและสาธิตการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการบริหารจัดการสินค้าเกษตรผลผลิตทางการเกษตร ผ่านเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) พร้อมบูรณาการขับเคลื่อนผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์ปฏิบัติการอื่นๆ จากภาครัฐ หรือโดยกลุ่มองค์กรประชาชน ในการช่วยเหลือแรงงานคืนถิ่นให้สามารถทำการเกษตรเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้

สศก. ได้ถือโอกาสในเดือนกรกฎาคม เดือนมหามงคลของปวงชนชาวไทย ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2563 เปิดตัวโครงการดังกล่าวนำร่องกิจกรรมครั้งแรก ณ ศพก. อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ โดยปราชญ์เกษตรตัวอย่าง คือ นายเชิดชัย จิณะแสน ศกอ. จ.ศรีสะเกษ และประธาน ศพก. ระดับประเทศ ซึ่งเป็นผู้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถพลิกฟื้น ยืนหยัด พึ่งพาตนเองได้อย่างภาคภูมิใจ รวมทั้งยัง เป็นอาชีพที่มีความยั่งยืน สามารถก้าวข้ามหรือรอดพ้นได้ทุกสถานการณ์ ทั้งจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 รวมถึงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในครั้งนี้ สศก. มีแผนดำเนินกิจกรรมในทุกภาค โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 - 12 ร่วมกับ ศกอ. ในพื้นที่จัดอบรมให้แก่เกษตรกร แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และผู้ว่างงานกว่า 1,000 รายบูรณาการต่อยอดและขยายผลไปสู่การเชื่อมโยงกับการพัฒนาอาชีพจากหน่วยงานต่างๆ

กิจกรรมภายใต้โครงการ จะเน้นกิจกรรมอบรมและสาธิต ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพเกษตรอย่างรอบด้าน ตั้งแต่การปรับพื้นฐานความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง การทำการเกษตรที่สามารถเลี้ยงชีพได้ภายใน 7 วัน การปลูกพืชสวนครัว พืชไร่ ไม้ผล การประมง การจัดการแหล่งน้ำ การปศุสัตว์ การปลูกป่าและไม้เศรษฐกิจ และที่สำคัญคือองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมในพื้นที่และให้ผลตอบแทนสูง ผ่านแอปพลิเคชั่น ฟาร์ม D การคิดต้นทุนการผลิตด้วยแอปพลิเคชั่นกระดานเศรษฐี (RCMO) การจัดทำแผนธุรกิจ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล BIG Data ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) เพื่อให้ก้าวทันยุคดิจิทัลในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

“วิกฤตโควิดช่วงที่ผ่านมา ได้กระทบต่อเศรษฐกิจและทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากพิจารณาแล้ว เราจะเห็นได้ว่า ภาคเกษตร กลุ่มเกษตรกร ยังเป็นกลุ่มที่สามารถพึ่งพาตนเองได้จากการทำกิจกรรมเกษตรผสมผสาน จึงทำให้เกษตรกรยังคงมีรายได้ อีกทั้งภาคเกษตร ยังมีศักยภาพในการรองรับ และช่วยแก้ไขปัญหาผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงานได้อีกด้วย ซึ่ง สศก. เรามีเศรษฐกิจการเกษตรอาสา หรือ ศกอ. ที่มีศักยภาพ และพร้อมทั้งความรู้ ประสบการณ์ด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน ที่จะเข้ามาบ่มเพาะ ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ผ่านการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนโครงการครั้งนี้ร่วมกัน” เลขาธิการ สศก. กล่าว

HTML::image( HTML::image(