คณะรัฐมนตรีไฟเขียวอนุมัติงบกลางปี 2563 อีกกว่า 500 ล้านบาท ให้หน่วยงานด้านน้ำใช้เตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลาก ในช่วงฤดูฝนปีนี้ พร้อมใช้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาน้ำให้ตรงกับความต้องการประชาชน และใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (8 กรกฎาคม 2563) ได้เห็นชอบสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลางในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 506.67 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในช่วงฤดูฝนปีนี้ และการแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำ ตลอดจนใช้ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามแผนงานที่ สทนช. เสนอ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แล้ว
สำหรับแผนงานที่จะใช้งบกลางดังกล่าวในการดำเนินงาน ประกอบด้วย แผนการกำจัดวัชพืชเพื่อเตรียมความพร้อมการเร่งระบายน้ำหลากในช่วงฤดูฝนในพื้นที่กว่า 30 จังหวัด จำนวน 215 แห่ง ดำเนินการโดยกรมชลประทาน และแผนการขุดลอกคูคลองในพื้นที่เขตหนองจอก รวม 63 คลอง ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร 60 คลอง และกรมชลประทาน 3 คลอง ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝน และการรับมือน้ำหลากปี 2563 รวมทั้งรองรับความต้องการใช้น้ำของภาคการเกษตรในพื้นที่ เนื่องจากในปัจจุบันคลองมีสภาพตื้นเขิน และระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2563 ตามที่ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้ว่า จากนี้ไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2563 ฝนจะทิ้งช่วง จากนั้นฝนจะเริ่มตกมากขึ้นและมีพายุพัดผ่านประเทศไทยประมาณ 1-2 ลูก อาจจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และอาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมฉับพลันได้ นอกจากนั้น ในส่วนของอาคารชลประทานและระบบชลประทานต่าง ๆ ในความรับผิดชอบของกรมชลประทานต้องเร่งดำเนินการซ่อมแซมให้มีสภาพพร้อมใช้งานเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำในช่วงฝนตกชุกต่อไปด้วย
ทั้งนี้ งบกลางดังกล่าว ยังจะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างประแสร์ ของกรมชลประทาน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม การดำเนินงานและเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 จากเดิมจะต้องที่กำหนดแล้วเสร็จในปี 2565 เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร อุปโภคบริโภค ตลอดจนบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยการเร่งการสูบน้ำกลับเข้าอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด อีกทั้ง สทนช. มีความจำเป็นที่จะต้องขอรับงบประมาณสนับสนุนเร่งด่วน เพื่อนำมาใช้ในแผนงานทำแบบจำลองกายภาพลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ สำหรับใช้ในการสร้างความเข้าใจในเรื่องแผนแม่บทและการบริหารจัดการน้ำได้ง่ายขึ้น ตามที่ พลเอก ประวิตร ได้สั่งการ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สทนช. ได้ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 5 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำมูล
“การประชุม ครม. ในครั้งนี้ ยังได้เห็นชอบงบกลางให้ สทนช. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะทำงานในพื้นที่ 76 จังหวัด ซึ่งเป็นภารกิจที่เกิดขึ้นใหม่ ในปี 2563 เพื่อเตรียมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับจังหวัดช่วงฤดูฝน ปี 2563 ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำได้ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit