สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย หรือไททา แนะภาคการเกษตรไทยจะผงาดในอุตสาหกรรมการเกษตรโลกและเป็นแหล่งอาหารที่มั่นคงภายในประเทศในยุคนิวนอร์มอลนั้น จะต้องปรับตัวสู่ระบบการผลิตแบบยั่งยืน เร่งผลักดันให้เกิดการทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งอย่างแท้จริง ผลิตตามแนวทางมาตรฐานเกษตรกรรมที่นานาประเทศตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกณฑ์วัดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม อาทิ GAP หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ตลอดจนนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้การทำเกษตรกรรมมีประสิทธิภาพประสิทธิผล มาปรับใช้
ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮ้าส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (ไททา) เผยว่า ภารกิจหลักของไททา คือการช่วยยกระดับภาคเกษตรกรรมไทยให้ก้าวขึ้นสู่ระดับสากล โดยยึดมาตรฐานสากลเป็นหลักปฏิบัติ เรามีพันธมิตรที่พร้อมจะสนับสนุนองค์ความรู้ นวัตกรรมใหม่ ๆ และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก
“นโยบายของไททาในครึ่งปีหลังนี้ คือการสานต่อการเผยแพร่ความรู้เรื่อง GAP และรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาตระหนักถึงความปลอดภัยต่อตนเอง ต่อสิ่งแวดล้อม และต่อผู้บริโภค เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพสูง มีความปลอดภัย ได้มาตรฐานซึ่งจะเป็นการลดขีดจำกัดทางการค้าในการส่งออก พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงปัจจัยทางการผลิตที่มีคุณภาพ รวมถึงการทำแคมเปญ 'Eat Safe Live Safe’ (อีทเซฟลีฟเซฟ) หรือ 'กินอยู่ปลอดภัย’ รณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความปลอดภัยในอาหารรวมถึงวิธีเลือกอาหารปลอดภัยควบคู่กันไปด้วย”
สถานการณ์ในขณะนี้ ภาคการเกษตรทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายเป็นอย่างมาก หลายประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันเพียงเท่านั้น แต่ยังสร้างปัจจัยลบในอีกหลายด้านที่เป็นอุปสรรคต่อการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะมาตรการล็อคดาวน์ ที่นอกจากจะทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าและปัจจัยการผลิตข้ามประเทศได้ ยังส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในระบบ เนื่องจากแรงงานต่างประเทศต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้
“หลายประเทศเกิดวิกฤติขาดแคลน เมล็ดพันธุ์คุณภาพ ปุ๋ย สารกำจัดแมลง เคมีเกษตรคุณภาพอื่น ๆ ในขณะที่ประเทศเราช่วงก่อนหน้านี้สินค้าเกษตรไม่สามารถส่งออกไปได้ ซึ่งการพึ่งพาอุปสงค์และอุปทานจากแหล่งผลิตระหว่างประเทศนี้ทำให้เกิดการทบทวนระบบการผลิตที่หันมาสู่การผลิตเพื่อพึ่งตนเองมากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือจากที่เคยผลิตพอส่งออก ก็จะเหลือแค่ผลิตให้พอกินในประเทศ ฉะนั้นในวิกฤตนี้มีโอกาสสำหรับประเทศไทย ในการเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก ที่มีความได้เปรียบในการเกษตรกรรม มีความพร้อมทั้งด้านภูมิประเทศ และความชำนาญ” ดร.วรณิกาเพิ่มเติม
ดังนั้นดร.วรณิกา มองว่าการจะผลักดันให้ไทยมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกยุคนิวนอร์มอลได้นั้น “เกษตรกรไทยต้องปรับตัวเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ลดการพึ่งพาแรงงาน หันมาใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมให้มากขึ้น เน้นการผลิตเพื่อคุณภาพ มากกว่าปริมาณ วางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับตลาดและสภาพอากาศมากขึ้น รวมทั้งเร่งพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เข้าถึงองค์ความรู้ข้อมูลต่าง ๆ ยิ่งในช่วงที่ผ่านมามีการเดินทางกลับภูมิลำเนามากขึ้น มีคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำการเกษตรมากขึ้น บางคนก็นำเทคโนโลยีมาช่วยหาตลาด หาช่องทางการขายให้ครอบครัว ซึ่งถ้าสามารถนำนวัตกรรม เทคโนโลยี ผสานกับความรู้พื้นฐานด้านเกษตรที่ส่วนใหญ่มีกันอยู่ มาต่อยอดร่วมกับปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ก็จะสามารถสร้างระบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งได้”
ดร.วรณิกายังกล่าวเสริมอีกว่า “GAP เป็นทางออกที่สมาคมฯ มองว่ายั่งยืนที่สุด เพราะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต นอกจากนี้ อีกประโยชน์ที่สำคัญมากคือความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกษตรกรยุคนี้ต้องคำนึงถึงอย่างมาก เพราะโลกยุคใหม่นี้ ผู้บริโภคนอกจากจะห่วงสุขภาพแล้ว ยังมองไปถึงสิ่งแวดล้อม และแน่นอนว่าหลาย ๆ ประเทศคู่ค้าของไทยใช้ประเด็นสุขอนามัยพืชและสิ่งแวดล้อมและการทำลายระบบนิเวศเป็นหัวข้อเรื่องกีดกันทางการค้า ดังนั้นจึงเป็นการสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาเรื่องของมาตรฐาน มี Traceability คือสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคและคู่ค้า GAP จึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่ให้ประโยชน์กับทุกฝ่าย”
“การจะปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรที่ทำสืบต่อกันมายาวนานต้องอาศัยหลายปัจจัยในการทำให้บรรลุผล ซึ่งก็รวมไปถึงนโยบายของภาครัฐ ที่จำเป็นจะต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง และเอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรด้วย รัฐบาลต้องมีมาตรการในการสนับสนุนเกษตรกรอย่างจริงจัง และที่สำคัญที่สุด ต้องเล็งเห็นอย่างถ่องแท้ถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นจากนโยบายหรือมาตรการที่มิได้พิจารณาจากข้อเท็จจริง ความจำเป็นที่แท้จริงในการทำเกษตรกรรม อันจะนำไปสู่ความเสียหายของภาคเกษตรในอนาคตอันใกล้นี้ รัฐจำเป็นต้องหาทางแก้ไขและฟังเสียงเกษตรกรผู้เป็นผู้ปฏิบัติ จึงจะสามารถฝ่าวิกฤต และผลักดันให้การเกษตรไทยแข็งแกร่งในเวทีโลกได้” ดร.วรณิกา ทิ้งท้าย
สำหรับภาพรวมสินค้าเกษตรในปี 2563 จากปัจจัยทางเศรษฐกิจของโลกซึ่งคาดว่าในปี 2563 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เช่นเดียวกับ เศรษฐกิจภายในประเทศของไทย แสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อของคนทั่วโลกมีการขยายตัวลดลง ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าภาคการเกษตรไทยจะขยายตัวลดลงด้วย โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่า GDP ภาคการเกษตรในปี 2563 จะขยายตัวเพียงร้อยละ 2 - 3 เท่านั้น กอปรกับในปี 2563 ไทยยังประสบกับปัญหาภัยแล้ง ที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงแทบทุกภาคของไทย รวมทั้งปริมาณน้ำฝนทั้งประเทศที่คาดว่าจะต่ำกว่าค่าปกติ ถึงร้อยละ 10 ในช่วงต้นปี ขณะที่ปัญหาโรคระบาด แมลง ศัตรูพืช ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมสินค้าเกษตร ในปี 2563 จึงต้องวิเคราะห์ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก รวมถึงภาวะการผลิตและการตลาด
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit