สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ ชุมชนกลุ่มม่วงสามสิบออร์แกนิคฟาร์ม ต.ม่วงสามสิบ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี วิสาหกิจชุมชนกลุ่มม่วงสามสิบออร์แกนิคฟาร์ม ซึ่งปลูกเมล่อนและแตงโมอินทรีย์เป็นหลัก ได้รับการส่งเสริมจาก ดีป้า ในการพัฒนาระบบฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอโอที (Internet of Things: IoT) เพื่อนำมาปรับใช้ในการดูแล และควบคุมผลิตผล แก้ปัญหาแรงงานขาดความชำนาญ ผลผลิตเสียหายหรือไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ชุมชนมองเห็นถึงแนวทางในการแก้ปัญหาโดยการประยุกต์ใช้ระบบไอโอทีที่สามารถควบคุมการให้น้ำ ให้ปุ๋ยที่แม่นยำ เพื่อจะช่วยลดการสูญเสีย ลดต้นทุน และนำมาซึ่งการเพิ่มรายได้ครัวเรือนของประชาชนในพื้นที่ เป็นการดำเนินงานซึ่ง ตอกย้ำแนวคิดดีป้า “ชุมชนเรียนรู้เองเลือกเอง เพื่อความยั่งยืน”
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยว่า ตามที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้มุ่งเน้นให้ดีป้าดำเนินงานส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในประชาชนตั้งแต่ระดับฐานรากเพื่อให้ประชาชนสามารถมีรายได้อย่างยั่งยืนนั้น ซึ่งตามภารกิจของดีป้า ได้มุ่งส่งเสริมในระดับชุมชน เพื่อกระจายความสามารถในการดำเนินวิสาหกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน ด้วยการให้ชุมชนเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
ที่ตอบโจทย์กับชุมชนเอง เช่นเดียวกับที่ ชุมชนกลุ่มม่วงสามสิบออร์แกนิคฟาร์ม ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนผ่านมาตรการของดีป้า โดยดีป้าตั้งเป้าที่จะส่งเสริมสนับสนุนไม่น้อยกว่า 200 ชุมชน ภายในปี 2563 นี้ ซึ่งได้เลือกที่จะนำเทคโนโลยีไอโอทีเข้ามาปรับใช้ในการควบคุมการเจริญเติบโตของผลผลิต เพื่อควบคุมมาตรฐานและลดการสูญเสีย
“แนวทางการดำเนินงานของดีป้าในการส่งเสริมให้ชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนั้น เราไม่ได้เลือกมาและส่งไปให้เขา และบอกว่าเขาจำเป็นต้องการใช้เทคโนโลยีอันนี้ แบบนี้ แต่เราให้ความรู้ ลงพื้นที่ ร่วมศึกษาถึงต้นเหตุของปัญหา หรือ โอกาสในการพัฒนากับชุมชน และแนะนำให้เข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม เพื่อให้ชุมชนได้เรียนรู้ เข้าใจปัจจัยสำคัญด้วยตนเอง และเลือกสรรเทคโนโลยี ที่จะสามารถแก้ปัญหาของชุมชนได้อย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน” ผอ.ใหญ่ ดีป้า กล่าวเสริม
นายปรีชา โยธา ตัวแทนชุมชนกลุ่มม่วงสามสิบออร์แกนิคฟาร์ม เผยว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มม่วงสามสิบออร์แกนิคฟาร์ม เป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันปลูกเมล่อนและแตงโมอินทรีย์เป็นหลัก ซึ่งได้รับการรับรองคุณภาพของผลผลิต
ภายใต้นโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตพืชปลอดภัยได้มาตรฐานตามระบบจัดการคุณภาพพืช (GAP) ผลผลิตที่ได้ทางกลุ่มจะนำไปขายในร้านสะดวกซื้อหลายแห่งในพื้นที่อีสาน ทำให้มีการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางกลุ่มประสบปัญญาเรื่องคุณภาพการผลิต เนื่องจากเมล่อนและแตงโมเป็นพืชผลที่ต้องการอุณหภูมิ การจ่ายน้ำ ปริมาณปุ๋ยที่แม่นยำและสม่ำเสมอ ส่งผลให้ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน
ทาง ดีป้า ได้เข้ามาช่วยพัฒนาระบบฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) ดำเนินงานทั้งการศึกษาและรวบรวมความต้องการของทางกลุ่ม จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และจัดสรรเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลให้กับกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ตั้งแต่กระบวนการปลูกผัก การดูแลรักษา และการเพิ่มช่องทางการขาย ก็จะสามารถลดหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับทางกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทางกลุ่มฯ ได้เลือกใช้เทคโนโลยีไอโอที ระบบจ่ายน้ำทั้งภายในและภายนอกโรงเรือนสำหรับจ่ายน้ำให้แก่พืชที่อยู่ในโรงเรือน ควบคู่กับการติดตั้งระบบจัดการการให้น้ำผ่านระบบไอโอที ซึ่งได้ บริษัท สมาร์ทติ๊งคอนโทล จำกัด เป็นผู้ให้บริการดิจิทัลเป็นผู้ออกแบบและวางระบบให้ โดยระบบดังกล่าวมีส่วนช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารการจ่ายน้ำ จ่ายปุ๋ยแก่เมล่อนและแตงโมได้อย่างแม่นยำ เพียงพอต่อความต้องการของผลผลิต ช่วยให้เมล่อนและแตงโมเติบโตอย่างสม่ำเสมอและได้มาตรฐาน ช่วยลดความเสียหายของผลผลิต ลดการใช้แรงงานและลดต้นทุนในการผลิตได้อย่างดีเยี่ยม โดยคาดว่าระบบดังกล่าวจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนได้ไม่น้อยกว่า 30% หรือ ราว 1.7 ล้านบาท/ปี และช่วยลดต้นทุนได้ไม่น้อยกว่า 40% หรือ กว่า 7 แสนบาท/ปี
ด้าน นายธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคอีสาน ดีป้า เผยว่า ชุมชนกลุ่มม่วงสามสิบออร์แกนิคฟาร์ม ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชุมชนต้นแบบที่มีความพร้อมและตื่นตัวในการริเริ่มประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งนี้ยังได้มีการวางแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน เช่น แผนการหารายได้เป็นการนำเทคโนโลยี มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนด้านแรงงาน รวมไปถึงเพิ่มรอบการผลิต โดยชุมชนจะสามารถเพิ่มผลผลิตในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยจัดการการให้น้ำให้ปุ๋ยแก่พืชอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะลดการแตกของผล และเพิ่มอัตราการรอดของพืช และยกระดับคุณภาพผลผลิตให้มีคุณภาพโดยลดการใช้สารเคมี ทำให้เป็นผลผลิตแบบอินทรีย์ 100% ยกระดับราคาผลผลิตโดยเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชน อีกทั้งยังสามารถกระจายองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย ซึ่งดีป้าก็เดินหน้าขับเคลื่อน และทำงานร่วมกับประชาชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit