“ก้างปลาติดคอ” เรื่องเล็กที่ไม่เล็ก ปล่อยไว้นาน อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ติดเชื้อเป็นหนองได้

21 Jul 2020

“ก้างปลาติดคอ” เป็นประสบการณ์อันแสนเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่รับประทานปลา และหากใครที่เคยเจอประสบการณ์นี้ อาจจะเข็ดกับการรับประทานปลาไปอีกนาน เพราะมันทั้งเจ็บคอและสร้างความทรมาณอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว อาการก้างปลาติดคอนั้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ อาจเกิดอันตรายถึงขั้นเป็นแผลบริเวณหลอดอาหารหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อ เป็นหนองลามเข้าไปในคอ หรือลามเข้าไปในช่องอกได้

“ก้างปลาติดคอ” เรื่องเล็กที่ไม่เล็ก ปล่อยไว้นาน อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ติดเชื้อเป็นหนองได้

มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลในเครือ “พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์” โดยเปิดเผยจาก นายแพทย์ปวิชญ์ วิรัชศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร เกี่ยวกับเคสก้างปลาและเคสวัตถุแปลกปลอมติดคอ เป็นสถิติในปี 2562 พบว่า เฉลี่ยแล้วพบเคสดังกล่าวกว่า 144 เคสต่อปี หรือเฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 3 - 4 เคสเลยทีเดียว

อาการเมื่อมีก้างปลาติดคอ

เมื่อก้างปลาติดคอ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการ เจ็บจี๊ดเฉียบพลัน กลืนน้ำลายแล้วเจ็บ รวมทั้งสามารถบอกตำแหน่งได้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่บริเวณใด

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

สำหรับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น สามารถดื่มน้ำแล้วกลั้วคอแรง ๆ หากเป็นก้างปลาขนาดเล็ก จะสามารถหลุดออกเองได้ แต่หากยังไม่หลุด ควรมาพบแพทย์ทันที

ความเชื่อผิด ๆ เมื่อมีก้างปลาติดคอ

หลายคนคงเคยได้ยิน ความเชื่อและสารพัดวิธีการปฏิบัติหากมีก้างปลาติดคอ ไม่ว่าจะเป็น การปั้นข้าวเหนียว การรับประทานกล้วย หรือมาร์ชเมลโล แล้วกลืนเพื่อดันก้างปลาให้หลุด หรือการใช้นิ้วล้วงคอ นับว่าเป็นความเชื่อและวิธีการที่ผิด เพราะในความเป็นจริงแล้วก้างปลาที่ใหญ่จะไม่สามารถหลุดออกได้ และการรับประทานอาหารดังกล่าวลงไป หรือแม้แต่การใช้นิ้วล้วงคอ อาจดันให้ก้างปลาติดลงไปลึกกว่าเดิมและทำให้เกิดแผลอีกด้วย

นอกจากนี้ ความเชื่อว่าการดื่มน้ำมะนาวแล้วจะทำให้ก้างปลาอ่อนนุ่มลง ก็ไม่เป็นความจริง เพราะน้ำมะนาวไม่สามารถทำให้ก้างปลาละลายและหลุดหายไปเองได้ และยิ่งดื่มน้ำมะนาวในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารอีกด้วย

การรักษาด้วยวิธีการส่องกล้อง หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

สำหรับแนวทางการตรวจและรักษาเมื่อมีอาการก้างปลาติดคอนั้น แพทย์จะทำการซักประวัติก่อนว่า ทานปลาชนิดใด และก้างปลาติดคอมานานแค่ไหนแล้ว มีอาการเจ็บที่บริเวณตำแหน่งไหนบ้าง โดยการตรวจเบื้องต้นจะใช้ไฟฉายคาดบริเวณศีรษะ ใช้ไหมกดลิ้น เพื่อหาเศษก้างปลาในบริเวณที่มักพบบ่อย ๆ

กรณีเคสที่หาก้างปลาไม่เจอ หรือเคสที่ก้างปลาติดในตำแหน่งลึก อาจจำเป็นต้องใช้กล้องขนาดเล็ก ส่องผ่านเข้าทางจมูกลงไปในบริเวณลำคอ หรือใช้ฟิล์มเอกซเรย์ เพื่อช่วยให้มองเห็นตำแหน่งที่แน่ชัดและใช้ที่คีบ ทำการคีบก้างปลาออกมา และหากใช้วิธีดังกล่าวแล้วยังหาไม่เจอ แต่ยังมีอาการเจ็บมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อาจต้องทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อรักษาต่อไป

ปัจจุบัน โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จ.ชุมพร มีบริการนำก้างปลาติดคอออกให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ - 30 กันยายน 2563 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในโครงการแพทย์ผู้ให้ เพื่อร่วมสร้างสังคมและชุมชนแห่งการให้อย่างแท้จริง

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอื่น ๆ สามารถขอคำปรึกษาจาก ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ทั้ง 9 แห่ง ใน 8 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และโรงพยาบาล พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร จังหวัดพิจิตร โรงพยาบาล ศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน และโรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร และสามารถติดตามสาระดี ๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ก : Principal Healthcare Company

“ก้างปลาติดคอ” เรื่องเล็กที่ไม่เล็ก ปล่อยไว้นาน อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ติดเชื้อเป็นหนองได้
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit