สคร. 12 สงขลา เตือน ระวัง โรคเลปโตสไปโรซิส (โรคฉี่หนู) เน้นย้ำ ปชช. เลี่ยงลุยน้ำ ย่ำโคลน พื้นที่ชื้นแฉะ ด้วยเท้าเปล่า

20 Jul 2020

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนระวังโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู เน้นย้ำ ประชาชน เลี่ยงเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน พื้นที่ชื้นแฉะด้วยเท้าเปล่า แนะสวมรองเท้าบูท ป้องกัน หากมีไข้เฉียบพลัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณน่อง โคนขา อย่าซื้อยา กินเอง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

สคร. 12 สงขลา เตือน ระวัง โรคเลปโตสไปโรซิส (โรคฉี่หนู) เน้นย้ำ ปชช. เลี่ยงลุยน้ำ ย่ำโคลน พื้นที่ชื้นแฉะ ด้วยเท้าเปล่า

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึง สถานการณ์ โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ว่า ได้รับรายงานผู้ป่วย จำนวนทั้งสิ้น 147 ราย มีผู้เสียชีวิต 5 ราย จังหวัดสงขลา 4 ราย และจังหวัดนราธิวาส 1 ราย อัตราป่วยสูงสุดอยู่ที่จังหวัดยะลา รองลงมาจังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง ส่วนกลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมา กลุ่มอายุ 35 - 44 ปี และกลุ่มอายุ 45 - 54 ปี และอาชีพรับจ้างมีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด รองลงมาเป็นเกษตรกร และนักเรียน

โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า เชื้อเลปโต สไปร่า (Leptospira) เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือโดยการไชเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งมักจะระบาดหน้าฝนและโดยเฉพาะหลังน้ำลด พบผู้เสี่ยง ต่อการติดเชื้อในเกษตรกร ที่ต้องเดินลุยน้ำ มีน้ำขัง หรือพื้นดินชื้นแฉะที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ได้แก่ วัว ควาย หมู หมา แพะ หนู รวมทั้งผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์/โรงฆ่าสัตว์/ผู้ที่ชำแหละสัตว์ที่มีเชื้อโรคฉี่หนู ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคดังกล่าว

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนป้องกันตัวเอง หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีน้ำขัง เนื่องจากหนู หมู วัว และควายอาจจะมาปัสสาวะไว้ ทำให้มีปริมาณเชื้อเข้มข้น หลีกเลี่ยงการลุยน้ำที่ท่วมขังหรือโคลน พื้นที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผล รอยถลอก ขีดข่วน หากต้องเดินย่ำน้ำตามตรอก ซอก ซอย คันนา ท้องนา ท้องไร่ ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือ หรือชุดป้องกัน สำหรับเกษตรกรผู้สัมผัสมูลสัตว์ หรือสิ่งสกปรกควรล้างมือ ล้างเท้า อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังเสร็จจากการทำงาน นอกจากนี้ยังต้องรักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือน กำจัดขยะเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู เก็บอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิด อย่าให้หนูปัสสาวะใส่ ดื่มน้ำต้มสุก และกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน รีบล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ ภายหลังจับต้องเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ และสัตว์ ทุกชนิด

นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวเน้นย้ำว่า หากมีอาการไข้สูง ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณน่องและโคนขา หลังจากสัมผัสพื้นที่น้ำขัง ดินที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ได้แก่ วัว ควาย หมู หมา แพะ หนู หรือผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์/โรงฆ่าสัตว์ หรือสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อโรคฉี่หนู ให้สงสัยว่าเป็นโรค เลปโตสไปโรซิส (โรคฉี่หนู) อย่าซื้อยามารับประทานเอง ควรไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการลุยน้ำให้ทราบ เพื่อประเมินการรักษาได้อย่างถูกต้อง หากมีข้อสงสัยสามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422