เร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว - แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนางานด้านรุกขกรรม

20 Jul 2020

นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุชุมชนเมือง ควรมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตร/ประชากร รวมถึงแนะสร้างมาตรฐาน “รุกขกรไทย” ผู้ดูแลต้นไม้ในเขตเมืองหรือนักศัลยกรรมต้นไม้ใหญ่ที่ปัจจุบันมีไม่ถึง 10 คนว่า กทม. มีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามการแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการ GREEN BANGKOK 2030 มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 10 ตารางเมตร/คน ภายในปี พ.ศ.2573 มีการสำรวจพื้นที่ว่าง ที่รกร้าง ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ นำมาพัฒนาเป็นสวนหย่อม สวนสาธารณะ หรือสวนป่า เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ซึ่งปัจจุบันโครงการ GREEN BANGKOK 2030 มีพื้นที่นำร่อง (ระยะที่ 1) อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ สวนสาธารณะบริเวณทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหาร เขตลาดกระบัง สวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร (ถนนบางขุนเทียน - ชายทะเล) เขตบางขุนเทียน สวนสันติพร เขตพระนคร สวนชุมชน เขตบางรัก สวนภายในซอยวิภาวดี 18 แยก 3 เขตจตุจักร โดยภายในปี 2563 กทม.จะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นประมาณ 30 ไร่

เร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว - แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนางานด้านรุกขกรรม

ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น กทม. ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนางานด้านรุกขกรรมกรุงเทพมหานคร โดยเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านรุกขกรรมมาช่วยพัฒนางานด้านการปลูกบำรุงรักษาต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งเห็นว่าการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง จำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นระบบเดียวกัน จึงได้จัดทำข้อกำหนดในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกคนมีแนวทางปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง ครบถ้วน เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขอความอนุเคราะห์ผู้ทรงคุณวุฒิร่วมจัดทำข้อกำหนดดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 ทั้งนี้ ข้อกำหนดในการปฏิบัติงานดังกล่าว จะมีแนวทางที่เพิ่มจากการปฏิบัติงานปกติ คือ มีการประเมินความเสี่ยงอันตรายจากต้นไม้ แล้วนำมาจัดลำดับความสำคัญในการตัดแต่ง ในส่วนของการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของ กทม.ได้ร่วมกับเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ได้แก่ กลุ่มบิ๊กทรีส์ สมาคมรุกขกรรมไทย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ธนาคารเกียรตินาคิน จัดทำโครงการฝึกอบรม เพื่อยกระดับการดูแลต้นไม้ใหญ่ของ กทม. ให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการดูแลต้นไม้ใหญ่ เพื่อทดลองใช้ระบบดูแลต้นไม้ใหญ่ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ช่วยศาสตราจารย์พรเทพ เหมือนพงศ์ อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ ปรับปรุงระบบสำหรับให้เจ้าหน้าที่ของ กทม. ใช้เป็นแนวทางโดยเฉพาะ สำหรับแนวทางการลงทะเบียนต้นไม้ใหญ่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รวมถึงต้นไม้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สำนักสิ่งแวดล้อม ได้เสนอโครงการจัดทำข้อมูลสารสนเทศเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศต้นไม้ สำหรับใช้เก็บข้อมูลต้นไม้และวางแผนการจัดการกระบวนงานพัฒนาพื้นที่สีเขียว ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ต่อไป ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการ