PwC เผยมาร์เก็ตแคปของ 100 บริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกเพิ่มขึ้น 20% ระหว่างเดือนมี.ค. ถึง ธ.ค. 62 ก่อนปรับตัวลดลง 15% ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปีนี้ โดยบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของซาอุดิอาระเบีย ซาอุดิ อารามโก ครองแชมป์บริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปสูงที่สุดของโลก หลังสร้างสถิติการเข้าตลาดด้วยมูลค่าไอพีโอสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ ส่วนมาร์เก็ตแคปของไมโครซอฟ และ แอปเปิล ณ สิ้นมี.ค. 63 สูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านมาร์เก็ตแคปของบริษัทจากยุโรปในท็อป 100 ปรับตัวลดลงมากที่สุด ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เช่นเดียวกับมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทยที่หายไปเกือบ 5 ล้านล้านบาท
นาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Global Top 100 companies by market capitalisation ของ PwC ที่ทำการวิเคราะห์มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของ 100 อันดับบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปสูงที่สุดของโลกใน 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ระหว่างเดือน มีนาคม ถึง ธันวาคม 2562 และ มกราคม ถึง มีนาคม 2563 เพื่อให้ทราบถึงการดำเนินงานของบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกเหล่านี้ว่าเป็นอย่างไร และก่อนที่วิกฤตโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อตลาดโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงวิธีการรับมือกับภาวะวิกฤตในช่วงแรกว่า ในช่วงระหว่างเดือน มีนาคม ถึง ธันวาคม ปีที่ผ่านมา มาร์เก็ตแคปของ 100 บริษัทขนาดใหญ่ชั้นนำของโลกเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีผลการดำเนินงานที่ยังคงสามารถยืนอยู่เหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ท่ามกลางความผันผวนของตลาดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นาย รอส ฮันเตอร์ หัวหน้าศูนย์ไอพีโอของ PwC กล่าวว่า
“ในช่วง 9 เดือน สิ้นสุดธันวาคมปีที่ผ่านมา มาร์เก็ตแคปของ 100 บริษัทขนาดใหญ่ของโลกเติบโตขึ้นอย่างน่าประทับใจที่ 20% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ ซาอุดิ อารามโก ที่กลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดของโลกหลังการเข้าตลาด และแม้ว่ามูลค่าตลาดรวมในช่วง 3 เดือนถัดมา จะปรับตัวลดลงถึง 15% แต่บริษัทที่ติดอันดับท็อป 100 ของโลกก็ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าดัชนีในกลุ่มอุตสาหกรรมของพวกเขา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนให้ความสำคัญกับคุณภาพ ขอบเขต และแนวทางในการรับมือกับวิกฤตของบริษัทขนาดใหญ่ รวมไปถึงการลงทุนหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว”
การดำเนินงานของแต่ละบริษัทที่แตกต่างกันไป
สำหรับ ซาอุดิ อารามโก นั้น ได้ติดอันดับ 100 บริษัทขนาดใหญ่ของโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 1 หลังจากสร้างสถิติมูลค่าไอพีโอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของโลกเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ยังคงสามารถรักษาอันดับในตำแหน่งนี้ไว้ได้
เช่นเดียวกันกับ ไมโครซอฟ และ แอปเปิล ที่แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่มาร์เก็ตแคปของทั้ง 2 บริษัทกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ในส่วนแอมะซอน มาร์เก็ตแคปของบริษัท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 แตะ 9.71 แสนล้านดอลลาร์ และหลังจากนั้นก็ได้พุ่งสูงเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากความต้องการชอปปิงออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากมาตรการการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ ข้อมูลยังพบว่า มีเพียง 10 บริษัทใน 100 บริษัทขนาดใหญ่ของโลกเท่านั้นที่มีมาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น ระหว่างเดือนธันวาคม 2562 ถึง มีนาคม 2563 ยกตัวอย่าง เช่น เน็ตฟลิกซ์ ที่ขยับจากการเป็น 1 ใน 10 บริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปลดลงมากที่สุดในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม ถึง ธันวาคม 2562 (-9%) มาเป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 (+16%)
ขณะที่ เทสล่า ที่ติดอันดับ 100 บริษัทขนาดใหญ่ของโลก และติดอันดับ 1 ใน 10 บริษัทที่มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ช่วงเวลา โดยมีมาร์เก็ตแคปปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่ามาที่ 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์
มุมมองในระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ทุกภูมิภาคทั่วโลกเห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของมาร์เก็ตแคปของบริษัทที่ถูกรวมอยู่ใน 100 อันดับบริษัทขนาดใหญ่ของโลกจนถึงเดือนธันวาคม 2562 ก่อนที่มาร์เก็ตแคปของบริษัทเหล่านี้จะปรับตัวลดลงในทุก ๆ ประเทศ (ยกเว้น ซาอุดิอาระเบีย)
โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มาร์เก็ตแคปของบริษัทสัญชาติยุโรปที่ติดอันดับ 100 บริษัทขนาดใหญ่ของโลก มีการปรับตัวลดลงมากที่สุดถึง 25% (9.56 แสนล้านล้านดอลลาร์)
ส่วนบริษัทสัญชาติอังกฤษที่ติดอันดับท็อป 100 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ มีมาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น 2% ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง ธันวาคม 2562 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงถึง 28% ณ เดือนมีนาคม 2563
อย่างไรก็ดี บริษัทสัญชาติอเมริกัน ยังคงครองอันดับที่ 1 ในแง่ของจำนวนบริษัทที่ติดอันดับและมูลค่ามาร์เก็ตแคป โดยแม้ว่า มาร์เก็ตแคปในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ถึง มีนาคม 2563 จะลดลงมาที่ 2,204 พันล้านดอลลาร์ (14%) ก็ตาม ในส่วนของบริษัทสัญชาติจีน ที่มีจำนวนบริษัทในรายชื่อ 100 บริษัทขนาดใหญ่ของโลกมากเป็นอันดับที่ 2 หรือ 14 บริษัท ได้ลดจำนวนลงไป 1 แห่งในปีนี้ ซึ่งนี่ยิ่งทำให้ช่องว่างอันดับระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหรัฐอเมริกานั้นกว้างขึ้น
พิษโควิด-19 กระทบมาร์เก็ตแคปของบริษัทไทย
ด้านนาย ชาญชัย กล่าวเสริมว่า “สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ก็ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ไม่แตกต่างจากทั่วโลก จริงอยู่ว่า ภาพรวมในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยดูเหมือนค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น แต่ไม่ได้สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเม็ดเงินจากการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเงินของรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบ ทำให้เม็ดเงินเหล่านั้นไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นภูมิภาคในช่วงสั้น”
จากข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2563 อยู่ที่ราว 12 ล้านล้านบาท หรือลดลงเกือบ 28% จากเดือน ธันวาคม 2562 ที่ 16.7 ล้านล้านบาท เมื่อพิจารณามาร์เก็ตแคปของหุ้นในกลุ่ม SET100 ซึ่งเป็นหุ้น 100 อันดับแรกของบริษัทขนาดใหญ่ที่จัดอันดับตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเฉลี่ยต่อวันในตลาดหุ้นไทยก็ลดลงเช่นกันราว 20% ที่ 9.4 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2563 จาก 11.8 ล้านล้านบาท ณ เดือน ธันวาคม 2562
“อย่างไรก็ดี การปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นจะยั่งยืนหรือไม่ องค์ประกอบสำคัญอยู่ที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเวลานี้ส่งสัญญาณชะลอตัวที่ชัดเจน กำลังการผลิตมีแนวโน้มลดลง ตามปริมาณการส่งออกที่ลดลง การท่องเที่ยวที่ซบเซา และการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องติดตามปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพราะคาดว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ จะเห็นความชัดเจนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นไปในทิศทางใด และผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวต่อการลงทุน” นาย ชาญชัย กล่าวสรุป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit