นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสินค้าทางเลือกที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี พบว่า ปัจจุบันเกษตรกรที่ทำนาและประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวเป็นการปลูกผักปลอดสารพิษ และบริหารจัดการน้ำอย่างประหยัด ทำให้ลดต้นทุนการผลิต สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากตัวอย่างของนางเชิงเชาว์ เพ็ชรักษ์ เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) นับเป็นอีกหนึ่งเกษตรกรตัวอย่างที่มีความมุ่งมั่นทำเกษตรปลอดสารพิษจนประสบผลสำเร็จได้รับมาตรฐาน GAP และพัฒนาที่พักอาศัยของตนเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต.พักทัน ศูนย์ข้าวชุมชนต้นกล้าพักทัน วิสาหกิจชุมชนต้นกล้าพักทัน และแปลงใหญ่ข้าวตำบลพักทัน เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ ยังมีการรวมกลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดสารพิษ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 50 ครัวเรือน
จากการลงพื้นที่ของ สศก. โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) โดยสัมภาษณ์ นางเชิงเชาว์ เพ็ชรักษ์ เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ต.พักทัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี บอกเล่าว่า เดิมนั้น ตนทำการเกษตรโดยเพาะปลูกข้าวเป็นหลักและปลูกผักสวนครัวบ้างเล็กน้อย ต่อมาปี 2562 ประสบปัญหาภัยแล้ง จึงมีแนวคิดขยายพื้นที่ปลูกผักปลอดสารพิษโดยใช้สารชีวภาพ เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินการติดต่อตลาดรับซื้อผลผลิต ประกอบกับ Top Supermarket เปิดโอกาสให้ส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายได้ ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 3 ไร่ โดยปลูกผักแต่ละชนิดหมุนเวียนสลับกันไป ซึ่งจะคำนึงถึงความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ สำหรับผักปลอดสารพิษแต่ละชนิดสามารถให้ผลผลิตและผลตอบแทนเฉลี่ยต่อไร่ ในแต่ละรอบการผลิต ดังนี้
คะน้า ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 9,120 บาท/ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 40 วัน ให้ผลผลิต 1,710 กก./ไร่ ราคาขายอยู่ที่ 20 บาท/กก.ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 25,080 บาท/ไร่ กวางตุ้ง ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 9,500 บาท/ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 40 วัน ให้ผลผลิต 1,330 กก./ไร่ ราคาขายอยู่ที่ 20 บาท/กก.ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 17,100 บาท/ไร่ ถั่วฝักยาว ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 8,160 บาท/ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 90 วัน ให้ผลผลิต 3,000 กก./ไร่ ราคาขายอยู่ที่ 25 บาท/กก. ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 66,840 บาท/ไร่ ผักบุ้งจีน ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 1,800 บาท/ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 20 วัน ให้ผลผลิต 960 กก./ไร่ ราคาขายอยู่ที่ 10 บาท/กก. ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 7,800 บาท/ไร่
ผักกาดขาว ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 15,750 บาท/ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 40 วัน ให้ผลผลิต 2,450 กก./ไร่ ราคาขายอยู่ที่ 20 บาท/กก. ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 33,250 บาท/ไร่ บวบ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 1,800 บาท/ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 70 วัน ให้ผลผลิต 3,600 กก./ไร่ ราคาขายอยู่ที่ 10 บาท/กก. ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 34,200 บาท/ไร่ กระเฉด ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 1,000 บาท/ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 120 วัน ให้ผลผลิต 1,200 กก./ไร่ ราคาขายอยู่ที่ 15 บาท/กก. ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 17,000 บาท/ไร่ กระเจี๊ยบเขียว ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5,000 บาท/ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 90 วัน ให้ผลผลิต 1,200 กก./ไร่ ราคาขายอยู่ที่ 15 บาท/กก. ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 13,000 บาท/ไร่
ด้านนายชีวิต เม่งเอียด ผู้อำนวยการ สศท.7 กล่าวเสริมว่า ผักที่เกษตรกรผลิตได้ร้อยละ 60 จะส่งขายที่ตลาดเกษตรกรของจังหวัด วันพุธ และเสาร์-อาทิตย์ ส่วนร้อยละ 40 ส่งขายให้กับ Tops Supermarket ประมาณ 4 ครั้ง/สัปดาห์ ซึ่งทางห้างจะเน้นสินค้าที่มีความหลากหลาย สะอาด สดใหม่ จากการจำหน่ายผลผลิตสามารถสร้างรายได้ (กำไร) ประมาณ 265,982 บาท/ปี นอกจากนางเชิงเชาว์ จะทำหน้าที่ ศกอ. แล้ว ยังเป็นตัวแทนด้านเกษตรอาสาให้กับหน่วยงานอื่นในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย เช่น อาสาสมัครเกษตรและสหกรณ์ อาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี เกษตรหมู่บ้าน ชาวนาอาสา และยังคงทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ให้แก่พี่น้องเกษตรกรในชุมชนรวมถึงคนทั่วไป โดยปัจจุบันมีเกษตรกรและผู้สนใจมาขอเข้ารับการอบรมกับทางศูนย์ ศพก. อย่างต่อเนื่องประมาณ 1,000 คน/ปี ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลพืชทางเลือกในพื้นที่ภาคกลาง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สศท.7 โทร. 05 6405 005-8 หรืออีเมล [email protected] หรือหากสนใจข้อมูลการปลูกผักปลอดสารพิษ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่นางเชิงเชาว์ เพ็ชรักษ์ เศรษฐกิจการเกษตรอาสา เลขที่ 22/4 หมู่ 10 ต.พักทัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี โทร 08 9538 4361 ซึ่งยินดีให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรและผู้สนใจทุกท่าน
HTML::image( HTML::image( HTML::image(