ถอดบทเรียนการศึกษานิวซีแลนด์ กับมาตรการดูแลนักศึกษาต่างชาติ

29 Jul 2020

การศึกษาต่อต่างประเทศ ถือเป็นความใฝ่ฝันและเป้าหมายทางการศึกษาของเด็กรุ่นใหม่ รวมไปถึงผู้ปกครองที่ต้องการวางอนาคตที่ดีกว่าให้กับบุตรหลาน ปัจจัยในการเลือกสถานที่ศึกษาต่อต่างประเทศมีหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ระบบและมาตรฐานการศึกษาที่ดี ชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา สภาพแวดล้อม ความปลอดภัย วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ค่าใช้จ่าย โอกาสในการหางาน และอื่นๆ

ถอดบทเรียนการศึกษานิวซีแลนด์ กับมาตรการดูแลนักศึกษาต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤติการแพร่ระบาดของCOVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกกำลังเกิดคำถามใหม่ วันนี้ถึงเวลาต้องเพิ่มอีกหนึ่งปัจจัยเข้ามาหรือไม่? โดยเฉพาะปัจจัยที่สะท้อนผ่านการรับมือวิกฤติ COVID-19 ของรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงการปรับตัวของภาคการศึกษาและตัวสถาบันการศึกษา เพราะนี่คือปัจจัยสำคัญที่จะใช้รับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่าง“โรคระบาด”ของนักศึกษาไทยในต่างแดนในอนาคต

ไปร่วมถอดบทเรียนการรับมือของภาคการศึกษาและมาตรการดูแลนักศึกษาต่างชาติในช่วงวิกฤติ COVID-19 ของประเทศนิวซีแลนด์ หนึ่งในประเทศที่มีมาตรฐานการศึกษาติดอันดับต้นๆของโลก ว่าเขามีวิธีบริหารจัดการอย่างไร?

จัดระบบเรียนออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ

- แม้ว่านิวซีแลนด์จะมีระบบการเรียนออนไลน์มาก่อนเกิดการแพร่ระบาดโรค COVID-19 แต่ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดและรัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์โดยมีการจัดมาตรการตั้งแต่ประเทศเข้าสู่ระดับการเตือนภัยระดับ 4 โรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการกำลังทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนทุกคนในนิวซีแลนด์มีวิธีการเข้าถึงการศึกษาอย่างน้อยหนึ่งวิธี แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีอุปกรณ์หรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่บ้าน

- กระทรวงศึกษาธิการนิวซีแลนด์ได้จัดทำเว็บไซต์ขึ้นมา 3 เว็บไซต์ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนักเรียน ผู้ปกครอง ครูผู้สอนและผู้บริหารโรงเรียน ได้แก่ เว็บไซต์กลาง Learningfromhome.govt.nz เว็บไซต์ภาษาท้องถิ่นสำหรับชาวเมารี และเว็บไซต์แนะนำโปรแกรมและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนทางไกล เพื่อช่วยให้การเรียนออนไลน์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

- โรงเรียนร่วมสร้างแรงจูงใจการเรียนออนไลน์ด้วยการจัดตารางเรียนให้สมดุล แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียน มีการเชิญวิยากรจากภายนอก สร้างแรงกระตุ้นให้การเรียนไม่น่าเบื่อ โดยมีการให้คำแนะนำทั้งผู้ปกครองและคุณครู

- กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้จัดทำฐานข้อมูลการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสำหรับการเรียนรู้ของโรงเรียน รวมถึงการจัดหาคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์แก่โรงเรียนที่ขาดแคลน เพื่อส่งต่อให้กับบักเรียนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งจัดเตรียมคู่มือออนไลน์ และชุดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนทุกคน

- ในกรณีที่นักเรียนไม่มารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำ Home Learning TV ผ่านช่อง TVNZ โดยนำเสนอการเรียนผ่านช่องการศึกษาระหว่างเวลา 9.00-15.00น. และจัดพิมพ์ชุดสื่อการเรียนรู้ซึ่งส่งไปยังบางครอบครัวที่ลงทะเบียนแจ้งความจำนงไว้กับโรงเรียนต่างๆ ด้วยเช่นกัน

จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ ดูแลนักศึกษาต่างชาติแบบคนกีวี

นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายปลายทางด้านการศึกษานานาชาติชั้นนำของโลก โดยในแต่ละปีประเทศนิวซีแลนด์จะมีนักเรียนนานาชาติกว่า 125,000 คน จากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในนิวซีแลนด์มากกว่า 3,600 คน โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับ 7 ของประเทศที่มีนักเรียนต่างชาติที่ไปเรียนต่อนิวซีแลนด์และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยระบบการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล สภาพแวดล้อมที่ดีมีความปลอดภัยต่อนักศึกษาต่างชาติ ค่าครองชีพต่ำกว่าประเทศอื่น อีกทั้งนิวซีแลนด์ยังเป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายคุ้มครองสำหรับนักเรียนต่างชาติ และการให้ความสำคัญกับการดูแลด้านความปลอดภัย

ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลนิวซีแลนด์ ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือความยากลำบากของนักเรียนต่างชาติ เพื่อเสนอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนด้วยเงิน 1 ล้านเหรียญดอลลาร์นิวซีแลนด์ โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือแก่สถาบันการศึกษาที่รับนักเรียนต่างชาติ เพื่อจัดสรรเงินช่วยเหลือนี้แก่นักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน หรือด้านอื่นๆ เช่น ความช่วยเหลือด้านเงินสด ค่าอาหาร และค่าครองชีพจากผลกระทบของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น.

สถาบันการศึกษาปรับตัวรวดเร็ว ขานรับนโยบาย

นอกจากนโยบายภาพรวมของภาครัฐในการรับมืออย่างเร่งด่วน อีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม คือความรวดเร็ว” ในการ “ปรับตัว” เพื่อรับมือกับปัญหาของตัวสถาบันการศึกษาเอง เพราะเป็นหน่วยงานที่ติดต่อกับนักเรียนโดยตรง นางสาวช่อทิพย์ ประมูลผล ผู้จัดการตลาด หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย ได้ยกตัวอย่างสองโรงเรียน เป็นเคสตัวอย่าง ได้แก่ โรงเรียนมัธยมวายเมีย(Waimea College) และโรงเรียนมัธยมไวนุยโอมาทา (Wainuiomata High School)

โรงเรียนมัธยมวายเมีย (Waimea College) ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมที่ใหญ่ที่สุดในเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ ตั้งอยู่ในเมืองเนลสัน มีนักเรียนทั้งหมดรวม 1,600 คน และดูแลนักเรียนต่างชาติอยู่ 60 คน (จากประเทศไทย ญี่ปุ่น ฮ่องกง เยอรมนี ออสเตรีย บราซิลและสหรัฐอเมริกา) โดยทางโรงเรียนได้ปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อคุณภาพการศึกษาและไม่ให้การเรียนหยุดชะงักโดยมีมาตรการการดูแลนักเรียน อาทิ

  • จัดตั้งการเรียนรู้ระบบออนไลน์อย่างรวดเร็ว หลังรัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ นำโปรแกรมการเรียนรู้บนทีม Microsoft และใช้ Education Perfect และระบบการประชุม “Zoom” สำหรับครูผู้สอน พนักงานผู้ช่วย และนักเรียน พร้อมจัดหาคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่น ๆ ให้กับนักเรียนที่ขาดแคลน เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันเป็นประจำ
  • มีทีมงานฝ่ายต่างประเทศ ดูแลนักเรียนต่างชาติ และประชุมสม่ำเสมอโดยใช้ “Zoom” และโทรศัพท์หมายเลขฉุกเฉิน เพื่อการช่วยเหลือเร่งด่วน เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนต่างชาติทุกคนจะปลอดภัย และได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากอาจารย์ และครอบครัวอุปถัมภ์
  • แต่งตั้งเจ้าหน้าที่คนไทยของทางโรงเรียน “ดร. กันตวัฒน์ (เคย์) สเต็ดดอน” เพื่อให้คำปรึกษากับนักเรียนไทย ผู้ปกครองและเอเย่นต์ ให้สามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมงหากมีข้อกังวล นอกจากนี้ยังติดตั้งการสมัครสมาชิก Raz-kids e-book สำหรับนักเรียนไทยและญี่ปุ่น ที่ไม่สามารถเดินทางไปยังโรงเรียนที่นิวซีแลนด์ได้ เนื่องจากการปิดพรมแดนชั่วคราว
  • ดูแลทั้งด้านการเงิน และจิตใจ โดยการผ่อนปรนแบ่งจ่ายค่าเล่าเรียน และค่าโฮมสเตย์เต็มรูปแบบตลอดปีการศึกษา (พิจารณาเป็นรายบุคคล) อีกทั้งยังคำนึงถึงด้านจิตใจของนักเรียนที่ ต้องเผชิญกับความยากลำบากในช่วงล็อคดาวน์ โดยการจัดกิจกรรมและส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วม อาทิ การจัดประชุมกลุ่มต่างประเทศออนไลน์ กิจกรรมการใช้ TikTok การแข่งขันการถ่ายภาพ ทำให้นักเรียนหลายคนรู้สึกว่า การใช้เวลากับครอบครัวอุปถัมภ์ในช่วงล็อคดาวน์ช่วยให้พวกเขารู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และได้พัฒนาการสนทนาภาษาอังกฤษของพวกเขาได้

โดย นางสาว จุฬาลักษ์ (เย็น) แขวงแดง นักเรียนไทยของโรงเรียน Waimea ซึ่งได้รับรางวัล ESOL ในวิชาการบัญชี และสถิติ สำหรับการเป็นนักเรียนรู้ที่ดีที่สุดระหว่างช่วงล็อคดาวน์ บอกว่า “ฉันทำได้ดีในวิชาเหล่านั้น เพราะมีเวลามากขึ้น และมีสมาธิในการเรียนที่ดีขึ้นในช่วงล็อคดาวน์ อีกทั้งคุณครูให้การสนับสนุนและให้โอกาสในการโทรถามคำถามบ่อยๆ และจากเหตุการณ์นี้ทำให้ฉันได้เชื่อมโยงกับเพื่อนๆ ในโรงเรียนผ่านการประชุมกลุ่มต่างประเทศโดยใช้ Zoom และทีมงานระหว่างต่างประเทศของโรงเรียนก็จะตรวจสอบพวกเราอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าเรามีความเป็นอยู่ที่ดีในช่วงล็อคดาวน์ ฉันได้ใช้เวลากับครอบครัวอุปถัมภ์เพิ่มขึ้น พวกเรามักจะทำอาหารด้วยกัน พ่อแม่ครอบครัวอุปถัมภ์ที่ฉันอยู่ด้วยนั้นยอดเยี่ยมมาก!”

เช่นเดียวกับ นาย ที เซ็นไซ นักเรียนปีที่ 13 อีกหนึ่งนักเรียนไทยในโรงเรียน Waimea เล่าให้ฟังว่า “ผมสนุกกับการเรียนออนไลน์ ชอบทำวิดีโอ TikTok และเข้าร่วมการประชุมกลุ่มโรงเรียนทุกวันศุกร์ ผมคิดว่าโรงเรียนจัดการระบบสอนออนไลน์ได้อย่างดี และผมมีความสุขกับการใช้เวลากับแม่ที่ครอบครัวอุปถัมภ์ ผมว่าผมโชคดีมากที่ได้มีโอกาสอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ในช่วงระหว่างการแพร่กระจายของโรคโควิด19 ขณะที่เพื่อนคนไทยของผมส่วนใหญ่ที่ไปเรียนประเทศอื่นต้องกลับไปเมืองไทย รัฐบาลนิวซีแลนด์สามารถจัดการสถานการณ์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ด้าน โรงเรียนมัธยมไวนุยโอมาทา (Wainuiomata High School) ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่ตั้งอยู่ในเมืองไวนุยโอมาทา แคว้นเวลลิงตัน มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 600 คน และมีนักเรียนนานาชาติรวม 20 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนไทย 1 คน ทางโรงเรียนมีแผนการรับมือเป็นขั้นๆ ตั้งแต่เริ่มมีข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศนิวซีแลนด์และแพร่มายังเมืองเวลลิงตัน และเมื่อรัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ประเทศ โรงเรียนก็มีการตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าวอย่างทันท่วงทีและสอดคล้องกับแผนหลักของกระทรวงศึกษาธิการฯ โดยปรับเลื่อนการปิดภาคเรียน 1 มาเร็วขึ้น 2 สัปดาห์ และจัดตั้งข้อกำหนดและรูปแบบการดำเนินการที่เรียกว่า“Lockdown Policy” ที่ทีมงานทุกภาคส่วนยึดถือปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วย:

  1. ประสานจัดการส่งคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปของโรงเรียนให้กับนักเรียนทุกคนที่ไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวของตนเอง เพื่อให้นักเรียนมีความพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2 ที่จะเริ่มในระหว่างกึ่งกลางล็อคดาวน์
  2. ให้การดูแลนักเรียนแบบองค์รวมที่เรียกว่า “Pastoral Care” โดยเน้นการติดตามดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเป็นพิเศษ แม้ต้องทำผ่านระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ
  3. Pastoral Care for International Students ประกอบด้วยการทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ 4 ส่วน คือ

a. Student’s Holistic Well-being โดยมี Student Manager เฝ้าดูแลติดตามเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี แข็งแรง มีความสุข ไม่โดดเดี่ยว ผ่านการแชทและวิดีโอคอลเป็นรายบุคคลกับนักเรียน พร้อมทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับ School Counselor หรือนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน พร้อมสร้างกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ออนไลน์ทุกเที่ยงวันพุธ เรียกว่า Wednesday Fun Lunch Meeting ให้นักเรียนต่างชาติทุกคนร่วม Video Meeting เพื่อทำกิจกรรมสนุกๆ

b. Student’s Happy Homestay โดยมี Homestay Coordinator เฝ้าดูแลติดตามประสานงานกับโฮมสเตย์ทุกครอบครัว และจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ออนไลน์ เช่น What’s Cooking ชวนเหล่าครอบครัวโฮมสเตย์มาแชร์สูตรอาหารและทำอาหารร่วมกันผ่านวิดีโอคอล โดยมีนักเรียนร่วมกิจกรรมด้วย

c. Student’s Academic Achievement โดยมี Assistant International Dean เฝ้าดูแลติดตามนักเรียนเป็นรายบุคคลและรายกลุ่มผ่านการแชทและการวิดีโอคอลเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้นักเรียนมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลช่วยเหลือเสมอและทันท่วงที หากมีข้อติดขัดสงสัยในการเรียน

  1. ประสานจัดการให้นักเรียนไทยที่ติดค้างอยู่ในประเทศไทยและยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศนิวซีแลนด์ได้ สามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ของโรงเรียนอย่างเป็นระบบร่วมกับนักเรียนอื่นๆ ของโรงเรียน และติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดและอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนสามารถเรียนทัน และได้รับการดูแลจากครูที่ปรึกษาและครูประจำรายวิชาทุกคน ที่สำคัญ นักเรียนไทยยังได้รับการดูแลในระบบ Pastoral Care จาก Student Manager ของโรงเรียนซึ่งเป็นคนไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนมีสุขภาพกาย-ใจที่ดี

โดยนางสาวกฤติญา อารักษ์คุณากร อายุ 19 ปี นักเรียนไทย Year 13 ได้กล่าวเสริมว่า“ส่วนตัวรู้สึกว่ารัฐบาลนิวซีแลนด์รับมือกับโควิด-19 ได้ดีมาก ส่วนโรงเรียนก็ให้ความช่วยเหลือเรามากๆ ค่ะ พอดีเรายังติดอยู่เมืองไทย ยังเดินทางกลับไปนิวซีแลนด์ไม่ได้เนื่องจากโควิด-19 แต่เราก็สามารถเรียนออนไลน์ได้ โดยมีคุณครูคนไทย (ครูศิริ – พัทธนันท์ ศิริสิงห์อำไพ) ที่นิวซีแลนด์คอยช่วยเหลือเราในหลายเรื่อง ทั้งออนไลน์มาพูดคุยช่วยให้ไม่เหงา ทั้งช่วยอัพเดพเรื่องเรียนและอื่นๆ ด้วยค่ะ”

ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งในการปรับตัวของภาคการศึกษานิวซีแลนด์ ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้ คงเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าทำไมนิวซีแลนด์ ถึงเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาอันดับต้นๆของโลก โดยได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่เตรียมความพร้อมนักเรียนสู่อนาคตที่ดีที่สุดในโลก และได้รับการจัดอันดับเป็น 1 จากประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก จากกรจัดอันดับของ Worldwide Educating for the Future Index 2019 โดยThe Economist Intelligence Unit

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษานิวซีแลนด์ ดูได้ที่ www.studyinnewzealand.govt.nz