หลังจากพ้นฤดูแล้งที่ต้องบริหารให้ผ่านวิกฤติมาแบบไม่ง่ายนัก เข้าสู่ฤดูฝนปี 2563 ภายใต้การพยากรณ์ของ กรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเพียงร้อยละ 5-10 และ ในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. อาจจะมีพายุ 1-2 ลูกเข้าประเทศ การวางแผนรับมือของกรมชลประทาน สำหรับสถานการณ์ที่ย้อนแย้งแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปริมาณฝน ในปี 2563 จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5-10 กรมจึงได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน โดยมีปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้ส่วนมากอยู่ในเกณฑ์น้อย ผนวกกับการพยากรณ์ที่คาดว่าอาจจะมีพายุ 1-2 ลูกเข้าไทย ในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. มาเป็นปัจจัยสำคัญในการเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างในช่วงเดือนที่อาจมีพายุเข้า โดยแนวการเคลื่อนของพายุ กรมอุตุฯ คาดว่าน่าจะเป็นภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“ต้องใช้หลักบริหารแบบไดนามิก คือการระบายน้ำออกโดยคำนึงถึงน้ำที่จะไหลเข้าลงอ่างตลอดฤดูฝน หลัก ๆ ให้เน้นเก็บน้ำฝนสำรองไว้เพื่อฤดูแล้งในรอบหน้าจะระบายออกเมื่อฝนทิ้งช่วงเท่านั้น เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนทั่วประเทศที่มี ณ วันที่ 22 ก.ค. 63 รวม 31,607 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 42 เป็นน้ำใช้การได้ 7,964 ล้านลบ.ม. และหากพิจารณาปริมาณน้ำรายเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนสำคัญ ๆ มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 เพราะฉะนั้นหลักบริหารในขณะนี้คือ การประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่จะเพาะปลูกใช้น้ำฝนและน้ำท่าเป็นหลัก และในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศจะใช้ให้น้อยที่สุดเพื่อสงวนน้ำสำหรับใช้ในฤดูแล้งหน้า และเพื่อรักษาระบบนิเวศน์เป็นสำคัญ”
ในช่วงการเกิดพายุ กรมชลประทานจะใช้ระบบโทรมาตร 1,259 แห่งทั่วประเทศ คาดการณ์ปริมาณน้ำที่ผ่าน แต่ละพื้นที่เพื่อใช้ในการบริหารน้ำรายพื้นที่ หรือรายลุ่มน้ำ และให้ทุกสำนักชลประทานร่วมวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม โดยเฉพาะเฝ้าระวังพื้นที่ท่วมซ้ำซาก รวมถึงให้ตรวจสิ่งปลูกสร้างไม่ให้กีดขวางทางน้ำ และกำจัดวัชพืชตามแผนงาน ที่ได้รับมอบหมาย
ทั้งนี้ ได้เตรียมใช้พื้นที่แก้มลิงธรรมชาติสำหรับตัดยอดน้ำ หน่วงน้ำ เก็บน้ำ ที่ไหลผ่านในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะใช้แก้มลิงทุ่งเจ้าพระยาทั้งหมด 12 ทุ่ง กับทุ่งบางระกำ พื้นที่ทุ่งเจ้าพระยา 12 ทุ่ง พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ เก็บน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม. หรือเกือบ 2 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้เริ่มเพาะปลูกแล้วจะเก็บเกี่ยวปลาย ก .ย. ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนจะเริ่มลงจากภาคเหนือมายังภาคกลางตอนบน หากมีกรณีต้องผันน้ำเข้าทุ่งแก้มลิงของลุ่มน้ำเจ้าพระยาซ้าย-ขวา กรมจะมีการประสานกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 22 จังหวัดเพื่อหารือกับประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่แก้มลิงตอนบนคือทุ่งบางระกำ พื้นที่ 2.65 แสนไร่ เก็บน้ำได้ประมาณ 400 ล้านลบ.ม. ซึ่งกรมใช้เป็นบางระกำโมเดล เริ่มปี 2560 ส่งเสริมให้ประชาชน ในพื้นที่ปลูกข้าวตั้งแต่ 1 เม.ย. เพื่อเก็บเกี่ยวก่อนเดือน ส.ค. หลังจากนั้นจะใช้หน่วงน้ำหลากในช่วงกลาง ส.ค. เพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม สุโขทัย พิษณุโลก ซึ่งที่บางระกำเป็นชุดความสำเร็จของกรม ที่ใช้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นกรมจะได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมอาชีพ เช่น ประมงและปศุสัตว์ ในโครงการปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง เพื่อสร้างรายได้เสริมให้ประชาชนในพื้นที่ ในปี 2563 เนื่องจากปริมาณน้ำน้อยสามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก 3.8 แสนไร่ เหลือ 2.6 แสนไร่ แผนจัดสรรน้ำประมาณ 310 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรไปแล้ว 240 ล้านลบ.ม. ปีนี้ คาดใช้พื้นที่รับน้ำประมาณ 1.4 แสนไร่ สามารถรับน้ำได้ประมาณ 240 ล้าน ลบ.ม. เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไปสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจ
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายอ่างมีปริมาณน้ำน้อยกว่า ร้อยละ 30 ทั้งลุ่มน้ำมูลและน้ำชี กรมได้มีการเตรียมการรับมือ หากกรณีมีปริมาณน้ำมากหรืออุทกภัยโดยการเตรียมศูนย์ส่วนหน้าของกรมไว้ในพื้นที่ที่ จังหวัดอุบลราชธานี และแผนการเคลื่อนกำลังของเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำสำหรับช่วยเหลือ ทุกพื้นที่
“กรมชลประทานจะทำหน้าที่เต็มกำลัง ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงวิกฤติท่วมหรือแล้งที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนช่วยกันทั้งรัฐ ประชาชนและเอกชน ทำให้ผ่านทุกสถานการณ์มาได้ ดังนั้น ขณะนี้กรมยังต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการประหยัดการใช้น้ำต่อเนื่อง เพื่อสงวนน้ำไว้ให้มากที่สุด”
สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ณ วันที่ 22 ก.ค. 2563 จำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างร่วมกัน 31,607 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 42 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 7,964 ล้าน ลบ.ม. ในลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,396 ล้านลบ.ม.หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 700 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 4 ของความจุแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี2563 ทั่วประเทศมีความต้องการใช้น้ำตลอดฤดู รวม 31,352 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำชลประทาน 11,975 ล้านลบ.ม. และน้ำฝน 19,377 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นอุปโภคบริโภค 2,980 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 3,654 ล้าน ลบ.ม. การเกษตร 4,974 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 367 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนปี 63 ณ 22 ก.ค. 63 ได้จัดสรรไปแล้ว 6,147 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือปริมาณน้ำ ที่ต้องจัดสรร 5,828 ล้าน ลบ.ม. หรือ ร้อยละ 49
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit