ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้เชิญตัวแทนเกษตรกร ประธานสภาเกษตรกรอ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี กว่า 40 คน ไปติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลที่ จังหวัดตาก และเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจสถานการณ์ว่าการบริหารน้ำกันอย่างไร และหลักในการจัดสรรน้ำทำอย่างไร ซึ่งกรมชลฯโปร่งใสพร้อมชี้แจงทุกประเด็น
“รับทราบจากพื้นที่ว่าเมื่อเกษตรกรและตัวแทนจากสภาเกษตร รับฟังและเห็นสถานการณ์จริงต่างก็พอใจ และเข้าใจในการบริหารของกรม และได้รับที่จะนำข้อเท็จจริงที่ได้เห็นด้วยตาตนเอง ไปชี้แจงกับเพื่อนสมาชิกสภาเกษตรและประชาชนในแต่ละพื้นที่เพื่อความเข้าใจตรงกันด้วย ซึ่งทางกรมยินดีชี้แจงทุกประเด็นเพื่อความเข้าใจของ ทุกฝ่าย“ ดร.ทองเปลวกล่าว
นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า หลังดูสถานการณ์น้ำในพื้นที่เขื่อนภูมิพล ก็เข้าใจและยอมรับว่ามีปัญหาแห้งแล้ง ขณะนี้ถ้าฝนไม่ตกเลย 1 เดือน ภาคการเกษตรจะน้ำเหลือ 0% ทันที หลังจากนี้ก็จะหารือเกษตรกรด้วยกันว่าต้องมีการปรับรูปแบบการทำการเกษตร และพร้อมที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเกษตรกรด้วยกันเข้าใจ อย่างไรก็ตามที่ร้องเรียนคือประเด็นการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐ เนื่องจากปีที่ผ่านมาแล้งมากไม่ได้ทำนา มาปี 63นี้ ก็ยังไม่สามารถทำได้จึงเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือเพราะไม่มีเงินใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ขณะเดียวกันเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยประสานผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองในการขอความช่วยเหลือจากเจ้าของบ่อทรายมีน้ำจำนวนมากกระจายในพื้นที่ของจังหวัดเพื่อให้เกษตรกรใช้ทำนา
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังจากที่พื้นที่ลุ่มเจ้าพะยาประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรหลายพื้นที่ในจังหวัดอ่างทอง โดยเฉพาะตำบลบ้านพราน ตำบลหนองแม่ไก่ อำเภอแสวงหา ได้รับผลกระทบตามไปด้วยนั้น กรมชลประทาน ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และพื้นที่ที่เพาะปลูกข้าวไปแล้วไม่ให้เกิดความเสียหาย ด้วยการผันน้ำจากแม่น้ำน้อยในอัตรา 25 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ผ่านประตูระบายน้ำบรมธาตุ ส่งเข้าคลอง 1 ขวา มาตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลเข้าคลอง5ซ้าย1ขวา ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายในการช่วยเหลือแล้ว กว่าร้อยละ 70 ประกอบกับมีฝนตก ในพื้นที่ทำให้เกษตรกรสามารถใช้น้ำจากน้ำฝนและน้ำจากคลองระบายน้ำบางส่วนเพื่อเพาะปลูกได้ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่มีความพึงพอใจกับมาตรการการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามขณะนี้หลายพื้นที่ฝนเริ่มตก แต่เนื่องปริมาณน้ำต้นทุนจำกัด กรมชลประทานจึงจัดสรรเพื่อช่วยเหลือเน้นที่น้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ขอความร่วมมือเกษตรกรปลูกข้าวเมื่อมีปริมาณฝนตกอย่างสม่ำเสมอและมีปริมาณน้ำเพียงพอ