กสอ. เตรียมบุกบ้านนาต้นจั่น ขยายผลเกษตรอุตสาหกรรม เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก พร้อมกำชับ ศูนย์ ITC 4.0 ทรานฟอร์ม ผลิตผลชุมชน

27 Jul 2020

กสอ. เตรียมลงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โชว์ศูนย์ ITC 4.0 ดึงเทคโนโลยี-นวัตกรรม แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดสู่เกษตรอุตสาหกรรม พร้อมชมวิถีชีวิต “บ้านนาต้นจั่น” หมู่บ้าน CIV ต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง เตรียมจับมือ อว. นำไอเดียคนรุ่นใหม่ต่อยอดจุดเด่นและจุดขายให้ชุมชน หวังยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานรากต่อไป

กสอ. เตรียมบุกบ้านนาต้นจั่น ขยายผลเกษตรอุตสาหกรรม เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก พร้อมกำชับ ศูนย์ ITC 4.0 ทรานฟอร์ม ผลิตผลชุมชน

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เตรียมนำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 1 สิงหาคมนี้เพื่อเยี่ยมชมศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center :ITC 4.0) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก เพื่อรับทราบปัญหาของชุมชน ตลอดจนหาแนวทางส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพ โดยเตรียมสั่งการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 ให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องจักรกลในการให้บริการทดลอง ทดสอบ เพื่อการแปรรูปผลผลิตทางทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรที่มีราคาสูงเพื่อใช้ในศึกษาความเป็นไปได้และทดสอบตลาด เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสนับสนุนวิทยาการ ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำที่ทันสมัยให้สอดคล้องความต้องการของตลาด

นอกจากนี้ ยังจะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานหมู่บ้านนาต้นจั่น ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ชุมชน
นำร่องหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) หรือ “หมู่บ้าน CIV” ในระยะแรกที่เน้นการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการชุมชนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยนำเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นของฝากของที่ระลึกควบคู่กับการบริหารจัดการเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน กสอ. ยังเตรียมเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดยกระดับศักยภาพของชุมชน ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มาเป็นพื้นที่เรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง และมีโอกาส
ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อแก้ปัญหาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชน อันจะเป็นการขยายผลสู่การสร้างรายได้และการมีงานทำของคนในพื้นที่ในอนาคต

อย่างไรก็ดี นอกจากการลงพื้นที่เพื่อพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมและยกระดับการเป็น
หมู่บ้าน CIV ที่ดีพร้อมแล้ว กสอ. นำโมเดลที่ประสบความสำเร็จที่ผ่านมา ขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ให้สอดคล้องแต่ละภูมิภาค ทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง สร้างการพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง
และยั่งยืน นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย