แม้ว่าวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 จะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกก็ตาม แต่ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาทางกลุ่มกิจการค้าร่วม DGM Consortiumยังคงดำเนินการประสานความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับกระทรวงการต่างประเทศ ทีมงานทั่วโลกยังคงทำงานจากที่ต่างๆ ในระยะไกลเพื่อส่งมอบโครงการที่สนับสนุนวิสัยทัศน์ “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาลไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยนวัตกรรมดิจิทัล
โครงการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์หรืออีพาสปอร์ตรุ่นใหม่ได้มีการส่งมอบให้แก่กระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม และได้มีพิธีเปิดตัวเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 สิงหาคม โดยมี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในงานครั้งนี้
โครงการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเป็นหนึ่งในโครงการหนังสือเดินทางที่ใหญ่ที่สุดของ Thales ทั่วโลก ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้พลเมืองไทยได้ถือหนังสือเดินทางที่ใช้เทคโนโลยีที่ดียิ่งขึ้นและมีความปลอดภัยในระดับสูงสุดเพื่อป้องกันการปลอมแปลง
หนังสือเดินทางที่มีจำนวนหน้าทั้งหมด 64 หน้าได้รับการออกแบบขึ้นมาใหม่พร้อมกับระบบไบโอเมทริกซ์ รวมถึงปกแบบ e-Cover และหน้าในสำหรับบันทึกข้อมูลที่มีความบางและยืดหยุ่นทำขึ้นจากวัสดุโพลีคาร์บอเนต ด้านในของปกหน้าจะมีภาพวัดอรุณราชวรารามซึ่งเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของกรุงเทพฯ เป็นภาพสีพิมพ์อาบยูวีความละเอียดสูง คุณลักษณะด้านซีเคียวริตี้บนหน้าบันทึกข้อมูลประกอบด้วยภาพของเจ้าของหนังสือเดินทางที่พิมพ์แบบเจาะเพิ่มเข้าไปในกรอบแบบกึ่งโปร่งใส เช่นเดียวกับสัญลักษณ์ดอกบัวสี่กลีบ ศิลปะลายไทยพื้นฐาน (ลายประจำยาม) ซึ่งฝังลงเนื้อในโดยใช้เทคโนโลยี Thales Secure Surface
ด้วยการออกแบบเพื่อป้องกันการปลอมแปลงรูปแบบใหม่ๆ เทคโนโลยี Thales Secure Surface เสริมองค์ประกอบทางด้านออพติค โดยมีส่วนที่มองเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวและสะท้อนแสงปรากฏขึ้นเมื่อกรีดทั้งเล่มในมุมต่างๆ คุณลักษณะเด่นทางด้านซีเคียวริตี้นี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสามารถตรวจเช็คได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
คุณลักษณะอีกประการที่ช่วยสังเกตุได้อย่างรวดเร็วคือ ลายเซ็นนูนของเจ้าของหนังสือเดินทางที่รับรู้ได้ด้วยการสัมผัสซึ่งถูกฝังลงในหน้าบันทึกข้อมูล ข้อมูลไบโอเมทริกซ์ส่วนบุคคลจะถูกฝังลงในชิปหนังสือเดินทางอย่างปลอดภัยโดยใช้ซอฟต์แวร์ระบบฝังข้อมูลของ Thales ซึ่งซอฟต์แวร์นี้จะมีความปลอดภัยสูงในการระบุตัวตนและให้การปกป้องความเป็นส่วนตัวอย่างแน่นหนา
คุณลักษณะด้านเทคโนโลยีของหนังสือเดินทางใหม่นี้ทำให้ผู้ถือมั่นใจถึงการข้ามพรมแดนที่มีความปลอดภัยและรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลทั้งหมดในประเทศไทย และยังปฏิบัติตามมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยสูงสุดที่แนะนำโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
นับตั้งแต่การเริ่มต้นโครงการ Thales ได้จัดฝึกอบรมให้ผู้เชี่ยวชาญในประเทศ 250 คน ที่ผ่านการอบรมทางด้านเทคโนโลยีการออกหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่นี้ โดยระยะเวลา 7 ปีหลังจากนี้ Thalesจะถ่ายทอดเทคโนโลยีและสอนทักษะการใช้เทคโนโลยีที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทให้แก่เจ้าหน้าที่ไทยมากกว่า 500 คน ซึ่งส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่ง
Thales เป็นพันธมิตรที่ดีกับประเทศไทยมายาวนานเกือบ 50 ปี และมีส่วนร่วมในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ นับตั้งแต่การป้องกันประเทศ จนถึงระบบการจัดการการจราจรทางอากาศ และการขนส่งภาคพื้นดิน ด้วยวิสัยทัศน์ของเรานับจากนี้เป็นต้นไป Thales จะจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านอัตลักษณ์ดิจิทัลและไบโอเมทริกซ์แก่กระทรวงการต่างประเทศ ทำให้กลุ่มบริษัทกลายเป็นพันธมิตรที่ได้รับความไว้วางใจในฐานะผู้ส่งมอบหนังสือเดินทางรุ่นใหม่ที่มีความปลอดภัยสูงแก่พลเมืองของประเทศนี้
“ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ Thales ได้ส่งมอบหนังสือเดินทางรุ่นใหม่ให้แก่พลเมืองไทยและมีส่วนร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศในการยกระดับการป้องกันมาตุภูมิและคุ้มครองข้อมูลอัตลักษณ์ของพลเมืองไทย ตลอดระยะเวลาสองสามเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราได้ประสานความร่วมมือในการทำงานเต็มที่อย่างต่อเนื่องกับกระทรวงการต่างประเทศโดยไม่ย่อท้อต่อนานาอุปสรรค เพื่อส่งมอบงานให้ได้ทันตามกำหนด ถึงตอนนี้พลเมืองไทยได้มีโอกาสถือหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยที่สุดเล่มหนึ่งของโลก ซึ่งบูรณาการข้อมูลไบโอเมทริกซ์และคุณลักษณะความปลอดภัยขั้นสูงอื่นๆ เข้าด้วยกัน อันจะช่วยให้ทุกคนได้รับประสบการณ์การเดินทางแบบไร้พรมแดนที่ปลอดภัย เราจะยังคงสร้างผู้เชี่ยวชาญในประเทศที่ทำหน้าที่ออกหนังสือเดินทางอย่างต่อเนื่อง โดยให้การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของเราในการยกระดับทักษะของคนไทย เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่โลกดิจิทัลแห่งอนาคต” กล่าวโดย มาสซิโม มารินซี, กรรมการผู้จัดการ Thales ประเทศไทย
เกี่ยวกับ Thales
Thales เป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่มีส่วนช่วยสร้างโลกแห่งอนาคต กลุ่มบริษัทมีโซลูชั่น บริการ และผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้าต่างๆ เช่น อากาศยาน อวกาศ การขนส่ง การระบุอัตลักษณ์และความมั่นคงปลอดภัยแบบดิจิทัล และการป้องกันประเทศ กลุ่มบริษัทมีพนักงาน 83,000 คน ใน 68 ประเทศ Thales สร้างยอดขาย 19 พันล้านยูโรในปี 2019 (เกณฑ์รายได้ล่วงหน้าซึ่งรวมถึงธุรกิจเจมัลโต (Gemalto) ตลอดระยะเวลา 12 เดือน)
Thales มีการลงทุนเป็นพิเศษในนวัตกรรมดิจิทัล ได้แก่ ระบบเชื่อมต่อ ระบบข้อมูลบิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยสนับสนุนธุรกิจ องค์กร และรัฐบาลเกี่ยวกับการตัดสินใจในงานด้านต่างๆ ในช่วงเวลาสำคัญๆ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit