ชื่นชม! Thai Kit Spacer อุปกรณ์พ่นยาฝีมือคนไทย ช่วยลดความเสี่ยงโควิด-19 ให้หมอ-พยาบาล

04 Aug 2020

ในยุคโควิด-19 เราได้เห็นคนไทยมีไอเดียดี ๆ หยิบจับวัสดุหลายอย่างมา DIY เป็นอุปกรณ์ดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคนี้ เช่นเดียวกับ “Thai Kit Spacer” อุปกรณ์ช่วยพ่นยาสำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืดและหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ก็เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการ DIY เหมือนกัน แต่ได้พัฒนาต่อยอดมาเรื่อย ๆ โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับสถาบันพลาสติก เพื่อให้เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ฝีมือคนไทย ที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างเต็มประสิทธิภาพ ใช้ทดแทนอุปกรณ์นำเข้าราคาแพง ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้ง่าย ที่สำคัญ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วยไปสู่ผู้อื่นได้ด้วย

ชื่นชม! Thai Kit Spacer อุปกรณ์พ่นยาฝีมือคนไทย ช่วยลดความเสี่ยงโควิด-19 ให้หมอ-พยาบาล

โดยปกติแล้วผู้ป่วยโรคหืดและหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง มีความจำเป็นต้องใช้ยาพ่นสูดชนิด Meter Dose Inhaler (MDI) แต่การพ่นยาชนิดนี้ ทำได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ เพราะต้องอาศัยจังหวะ การกดยาและการหายใจที่สอดคล้องกัน ทำให้พ่นยากและยาไม่ค่อยเข้า จึงมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า spacer หรือกระบอกกักเก็บยา เพื่อให้พ่นยาได้ง่ายขึ้น และยาเข้าสู่ปอดเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาที่เจอก็คือ  Spacer ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า ซึ่งในประเทศไทยก็มีผู้นำเข้ามาเพียงไม่กี่ราย ทำให้มีราคาแพง อีกทั้งอุปกรณ์การแพทย์แบบนี้ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่สามารถซื้อหามาใช้เองได้ง่าย ๆ

จาก Pain Point หรือปมปัญหานี้เองทำให้ทีมของ ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ร่วมมือกันคิดประดิษฐ์ Spacer ฝีมือคนไทยล้วน ๆ ที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อทดแทนการ นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ป่วยหามาใช้ได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มแรกเอาขวดน้ำมาดัดแปลงให้มีลิ้นแบบ DIY แต่พบว่าไม่ทนต่อการใช้งาน จึงได้พยายามพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ เพื่อตอบโจทย์คนไทยมากที่สุด โดยได้สถาบันพลาสติกเข้ามาช่วยเรื่องทำแม่พิมพ์ (mold) และการผลิต จนได้ Thai Kit Spacer ที่มีลักษณะครอบจมูก และปาก ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังใช้สะดวกทั้งกับเด็ก ๆ และผู้สูงอายุ  

และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก และสมาคมสภาองค์กรโรคหืดของทั้งไทยและในต่างประเทศ ให้คำแนะนำว่าในโรงพยาบาลห้ามพ่นยาโดยฝอยละออง หรือ Nebulizer เพราะหากพ่นยาในช่วงที่คนไข้มีเชื้อโควิดในตัว อาจทำให้เกิดฝอยละอองฟุ้งกระจายไปทั่ว ทำให้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ง่าย ดังนั้นคนไข้ที่พ่นยาแบบฝุ่นละอองจึงจำต้องเปลี่ยนมาพ่นแบบ MDI พร้อม Spacer ทุกราย คุณหมออรพรรณจึงได้ดัดแปลงอุปกรณ์ Thai Kit Spacer ออกมาอีกรุ่นหนึ่ง คือ Thai Kit Spacer รุ่น COVID-19 ที่นอกจากจะลดการฟุ้งกระจายของฝอยละอองที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และปกป้องบุคลากรทางการแพทย์จากฝอยละอองที่ฟุ้งกระจายแล้ว ยังมีท่อต่อสายออกซิเจนขณะพ่นยา MDI สำหรับคนไข้หอบกำเริบรุนแรงที่ต้องใช้ออกซิเจนด้วย

“ปกติถ้าคนไข้หอบและต้องใช้ออกซิเจน เราก็จะพ่นยาแบบใช้ Spacer ไม่ได้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อฝอยละอองที่ฟุ้งกระจาย ทีมหมอจากคณะแพทยศาสตร์ก็เลยช่วยกันคิดกับวิศวกรของสถาบันพลาสติก ออกมาเป็น Thai Kit Spacer รุ่น COVID-19 ที่มีท่อต่อให้ออกซิเจนได้ ขณะพ่นยา MDI ซึ่งช่วยลดการฟุ้งกระจายของฝอยละอองและให้ออกซิเจนได้ด้วย ตอนนี้เราค่อย ๆ ผลิตอุปกรณ์นี้ออกมา เริ่มแจกจ่าย Thai Kit Spacer รุ่นพิเศษนี้ไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งเป้าไว้ที่ 10,000 ชิ้น” คุณหมออรพรรณกล่าว

คุณหมอบอกว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ร่วมมือกับพันธมิตร คือ สถาบันพลาสติก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ผลิตและบริจาคอุปกรณ์พ่นยา Thai Kit Spacer ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ไปแล้วหลายครั้ง และขณะนี้สถาบันพลาสติกกำลังดำเนินการร่วมกับเอกชนเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้มีอุปกรณ์จำหน่ายอย่างแพร่หลาย เพื่อให้คนไทยได้ใช้อย่างทั่วถึง โดย Thai Kit Spacer นี้ เน้นในเรื่องความคงทน น้ำหนักเบาพกพาสะดวก โดยอยู่บนการหลักสำคัญคือราคาต้องไม่แพง

“Thai Kit Spacer ใช้พลาสติกเกรดคุณภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ (Medical Grade) เป็นวัสดุหลัก ซึ่งมีความปลอดภัย คงทน ตกไม่แตก น้ำหนักเบา ทำให้พกพาและใช้งานสะดวก อีกทั้งต้นทุนการผลิตไม่สูง ทำให้Thai Kit Spacer มีราคาไม่แพง อยู่แค่หลักร้อย ถูกกว่าของนำเข้าที่ปกติราคาอันละประมาณ 1,000-1,500- บาท และเมื่อใช้งานเสร็จแล้วก็ล้างทำความสะอาดง่าย เอามาใช้ซ้ำได้ตลอดชีวิต คุ้มค่ามาก ๆ” คุณหมออรพรรณชี้แจง และเพิ่มเติมว่า กรณี Thai Kit Spacer ที่ใช้ในโรงพยาบาล ก็สามารถนำไปอบความร้อน ฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดได้ตามปกติเหมือนอุปกรรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ

“คุณสมบัติสำคัญอีกประการหนึ่งของวัสดุพลาสติกของ Thai Kit Spacer คือลดปัญหาไฟฟ้าสถิต ทำให้การกระจายตัวยาดี ไม่เกาะบนพื้นผิว” คุณหมออรพรรณ อธิบายคุณสมบัติเด่นของ Thai Kit Spacer พร้อมบอกด้วยว่า โดยทั่วไป มีอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกหลายอย่าง เช่น ไซริงค์ ขวดล้างจมูก ที่ใช้พลาสติกเป็นวัสดุหลัก เพราะทนทาน ใช้งานได้ดีมีประสิทธิภาพ ทำความสะอาดง่าย ราคาไม่แพง หากเทียบกับวัสดุชนิดอื่น

คุณหมอบอกว่า จากที่ทำโครงการพัฒนา Thai Kit Spacer มา 10 ปี ถือว่าเกินความคาดหวังมาไกลแล้ว และอยากเห็นอุปกรณ์นี้เป็น “Spacer for All”  ที่ทำให้คนไทยมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ประสิทธิภาพดี ปลอดภัย ราคาประหยัดใช้กันมากขึ้น

“เราคิดเพียงว่า คนไข้ขาดอะไร ก็จะตอบโจทย์คนไข้ เริ่มต้นจาก DIY แล้วต่อยอดมาเป็น Spacer ขนาดนี้ ถือว่าเกินความคาดหวัง จากนี้ต้องถามว่า คนไข้ต้องการอะไรต่อ เราจะแก้ปัญหาตามโจทย์ที่เกิดขึ้น อย่างรุ่น COVID-19 ก็ทำตามโจทย์ปัจจุบัน หากคนไข้ได้ใช้ตามที่คิด ก็มีความสุขแล้ว” คุณหมอกล่าวทิ้งท้าย หากหน่วยงานใดต้องการสนับสนุนการผลิต Thai Kit Spacer หรือจัดซื้อเพื่อบริจาคให้โรงพยาบาล สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืดและระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 02-9269139, 081-422-2851, 086-4136040 หรือหากคนไข้โรคหืดหอบต้องการหาซื้ออุปกรณ์สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท เวลล์เกจ ดิสทริบิวชั่น จำกัด

เกี่ยวกับ 'ดาว’

ดาว (DOW) เป็นผู้นำด้านแมททีเรียลส์ ไซแอนซ์ (Materials Science) ระดับโลกที่มีความมุ่งมั่นด้านนวัตกรรม เอาใจใส่ต่อลูกค้า ให้การยอมรับบุคลากรที่หลากหลาย และให้ความสำคัญกับความยั่งยืน กลุ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นส์ทางวิทยาศาสตร์ของดาวได้แก่ พลาสติกชนิดต่าง ๆ สารและวัสดุอุตสาหกรรม สารเคลือบผิว และซิลิโคน ซึ่งเน้นสร้างความแตกต่างเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูง เช่น บรรจุภัณฑ์ การก่อสร้าง และการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ปัจจุบัน Dow มีฐานการผลิต 109 แห่งใน 31 ประเทศ และมีพนักงานประมาณ 36,500 คน โดยมียอดขายในปี 2562 ประมาณ 43 พันล้านดอลลาห์สหรัฐฯ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Dow ได้ที่ www.dow.com ติดตามทวิตเตอร์ @DowNewsroom หรือ เฟซบุ๊ก www.facebook.com/DowThailandGroup/

HTML::image(